โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 23,477.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยเรียกเก็บเงินรายได้อื่นตามมาตรา 40 (3) จากโจทก์ ด้วยมติอันมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ในปี 2563 และปีต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด อ. ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด อ. โจทก์เป็นเจ้าของร่วมผู้ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเลขที่ 9/1013 ของอาคารชุดดังกล่าว ตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดกำหนดให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลางอัตรา 30 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อมาคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2559 ปี 2560 และปี 2561 มีการพิจารณาจัดเก็บเงินเพื่อบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดอัตรา 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน อ้างว่าเป็นเงินอื่นเพื่อปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนดตามมาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 โดยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด โดยศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเป็นที่ยุติว่าเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ตามมาตรา 18 ประกอบมาตรา 32 (8) มติเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 48 วรรคหนึ่ง (5) จำเลยได้จัดเก็บเงินตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมของนิติบุคคลอาคารชุดจากโจทก์ในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ในปี 2559 ถึงปี 2562 รวมเป็นเงินปีละ 4,376.40 บาท รวมเป็นเงิน 17,505.60 บาท ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้นำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ในฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 เมื่อโจทก์เจ้าของร่วมมิได้ร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ มติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมย่อมมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลยได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 มาวินิจฉัยแก่คดีชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้เจ้าของร่วมนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วม จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาวินิจฉัยคดีนี้ในฐานะบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ เห็นว่า การอยู่ร่วมกันของเจ้าของร่วมในอาคารชุดเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นโดยการรวมตัวของบุคคลที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในการรับบริการส่วนรวมและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมโดยมีนิติบุคคลอาคารชุดบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 33 ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดตามมาตรา 38 (1) ให้ดำเนินไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด โดยอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามมาตรา 42/1 หรือการประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 42/2 ในกิจการปกติ มติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ส่วนกิจการที่มีความสำคัญ มติที่ได้รับความเห็นชอบต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด กรณีคะแนนเสียงไม่ครบกึ่งหนึ่งและมีการเรียกประชุมใหม่ตามมาตรา 48 วรรคสอง การเข้าร่วมประชุมจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของร่วมที่ต้องให้ความร่วมมือโดยเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือ ให้ความคิดความเห็น เสนอแนะ และร่วมตัดสินใจลงมติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็วอันจะให้กิจการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้เนื่องจากกิจการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเจ้าของร่วมในการใช้บริการต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนี้ กรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการนัดเรียกหรือการนัดประชุมหรือการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วเพื่อให้กิจการของนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วม เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 บังคับใช้โดยเฉพาะแก่การนัดเรียกหรือการประชุมหรือการลงมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 4 บริษัทจำกัด ซึ่งบัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น" มาใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงนับว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหานิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกรณีการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 หรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้นั้นต้องเป็นกรณีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย สำหรับมติของเจ้าของร่วมในกิจการที่มีความสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา 48 โดยวรรคหนึ่งกำหนดว่าต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด กรณีคะแนนเสียงไม่ครบตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง บทบัญญัติวรรคสองได้บัญญัติถึงขั้นตอนดำเนินการต่อไปว่าให้เรียกประชุมเจ้าของร่วมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน ในการลงมติในการประชุมครั้งใหม่เพียงแต่ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดก็เป็นอันใช้ได้ ดังนี้ กรณีการลงมติในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันตามข้อบังคับซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 48 (5) หากมติของที่ประชุมไม่ได้รับความเห็นชอบโดยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดในการประชุมเจ้าของร่วมครั้งแรก กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยจะต้องมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อนและต้องมีการลงมติกันใหม่อีกครั้ง ได้ความตามรายงานประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2558 ถึงปี 2560 ว่าในการประชุมใหญ่สามัญของแต่ละปีมีการลงมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าเป็นการจัดเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญกลับมิได้เรียกให้มีการประชุมใหม่เพื่อให้เจ้าของร่วมลงมติกันใหม่อันเป็นขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง การเรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวจึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนจึงสิ้นสภาพไปโดยที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่อย่างใด จำเลยไม่อาจถือเอาประโยชน์จากมติดังกล่าวมาเรียกให้โจทก์เจ้าของร่วมชำระเงินเพิ่มได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้แก่จำเลยคืนได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 มาวินิจฉัยแก่คดีโดยวินิจฉัยว่าเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือเจ้าของร่วมร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ มติของที่ประชุมใหญ่นั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา การที่จำเลยเรียกเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดตามฟ้องแก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ แต่ที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินจากโจทก์นั้น เห็นว่า หนี้ที่จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์นั้น เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระ จำเลยต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันครบกำหนดบอกกล่าวทวงถามอันถือว่าเป็นวันที่จำเลยผิดนัด แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงหลักฐานการบอกกล่าวทวงถาม จึงให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันฟ้อง โดยให้รับผิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยในมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และบัญญัติความขึ้นใหม่ มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 17,505.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 ตุลาคม 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ปรับเปลี่ยนไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามอัตราเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ