โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิดังกล่าวให้ถูกต้องภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องภายในวันที่ 20 มกราคม 2566 ปรากฏว่าจำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 อันเป็นวันล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2566 และยกฎีกาของจำเลย