โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของโจทก์ระหว่างปี 2518 ถึงปี 2528 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดเทศบาลของโจทก์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2521 ถึงเดือนธันวาคม 2524 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2516 นายรังสรรค์ โสธรวิทย์ ได้ทำบันทึกตกลงยกที่ดินที่สี่แยกถนนวิทยธำรงตัดกับถนนรัตนเขต ตำบลในเมืองอำเภอเมืองยโสธร เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน ให้โจทก์สร้างตลาดสดโดยมีข้อตกลงว่านายรังสรรค์จะสร้างอาคารพาณิชย์ให้เสร็จครบทุกหลังภายในกำหนด 3 ปี นับแต่โจทก์สร้างตลาดสดเสร็จและเปิดดำเนินการและจะยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ 2 คูหา โดยจะสร้างให้เสร็จภายใน 2 ปีนับแต่สร้างตลาดสดเสร็จและเปิดดำเนินกิจการ แล้วโจทก์จะให้นายรังสรรค์เช่ามีกำหนด 12 ปี ค่าเช่าคูหาละ 200 บาท ต่อเดือนหากสร้างไม่เสร็จตามกำหนดก็จะต้องเสียค่าเช่าตามอัตราดังกล่าวแก่โจทก์มีกำหนด 12 ปี โจทก์สร้างตลาดสดเสร็จและเปิดดำเนินกิจการในปี 2518 แต่นายรังสรรค์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการของโจทก์ก็ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง หลังนายรังสรรค์ถึงแก่กรรมในปี 2521 แล้วก็ไม่ฟ้องร้องบังคับเอาแก่กองมรดกของนายรังสรรค์จนเกิน 1 ปี ขาดอายุความไม่อาจฟ้องร้องได้ เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้คือค่าเช่าอาคารพาณิชย์เดือนละ 400 บาท รวม 144 เดือนเป็นเงิน57,000 บาท (ที่ถูก 57,600 บาท) และมูลค่าอาคารพาณิชย์โจทก์ 2 คูหา คิดราคาในขณะนั้นเป็นเงิน 272,026 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 329,626 บาท โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในวันที่ 10 ตุลาคม 2528โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 329,626 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า บันทึกตกลงตามฟ้องเป็นการยกให้ซึ่งทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า แต่จนกระทั่งถึงแก่กรรมนายรังสรรค์ โสธรวิทย์ ยังไม่มีที่ดินที่จะสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญา ที่ดินรอบ ๆ ตลาดสดเทศบาลเมืองยโสธรเป็นของบริษัทโสธรวิทย์หรือสหโสธรวิทย์ นายรังสรรค์มิได้ทำสัญญาจะยกให้โจทก์ในนามของบริษัทดังกล่าว ขณะทำสัญญานายรังสรรค์ไม่มีและมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยกให้โจทก์ สัญญายกให้จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1 ได้สั่งและกำชับจำเลยที่ 2ให้ทวงถามและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทายาทและกองมรดกของนายรังสรรค์อยู่ตลอดเวลา แต่จำเลยที่ 2 รายงานว่ายังไม่อาจดำเนินคดีได้เพราะทายาทของนายรังสรรค์กำลังฟ้องร้องกันอยู่ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาศาลได้มีคำสั่งตั้งนายเต็กอู่เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์จึงยังมีสิทธิจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายเต็กอู่ผู้จัดการมรดกของนายรังสรรค์ได้คดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์ชอบที่จะฟ้องผู้จัดการมรดกของนายรังสรรค์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับนายรังสรรค์ โสธรวิทย์ ไม่เคยทำสัญญากันตามสำเนาบันทึกข้อตกลงท้ายฟ้อง หากจะมีเอกสารตามบันทึกดังกล่าวก็เป็นเพียงว่าข้อตกลงซึ่งคู่สัญญามิได้ลงลายมือชื่อไว้ ไม่เป็นหนังสือสัญญา ใช้บังคับไม่ได้ ข้อสัญญาที่อ้างว่านายรังสรรค์สัญญาจะยกอาคารพาณิชย์ให้เป็นคำมั่นจะให้อสังหาริมทรัพย์ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาอาคารพาณิชย์และค่าเช่าอาคารพาณิชย์ที่นายรังสรรค์สัญญาว่าจะให้แก่โจทก์เป็นดอกผลของอาคารพาณิชย์ โจทก์มิใช่เจ้าของอาคารพาณิชย์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเช่าจากนายรังสรรค์โจทก์ไม่เคยส่งมอบหลักฐานหรือแจ้งเรื่องข้อตกลงรายนี้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดการและไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 2มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย หากจะถือว่าโจทก์มีอำนาจบังคับนายรังสรรค์ให้ส่งมอบอาคารพาณิชย์และค่าเช่าโจทก์ก็มีอำนาจบังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพราะนายรังสรรค์ต้องส่งมอบอาคารพาณิชย์และค่าเช่าให้โจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่สร้างตลาดเสร็จ และตลาดสดสร้างเสร็จและเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2518 ก่อนจำเลยที่ 2 จะมารับตำแหน่ง แต่โจทก์ละเลยไม่ดำเนินการฟ้องร้องอย่างไรก็ตามโจทก์ยังมีสิทธิที่จะฟ้องนายรังสรรค์หรือทายาทได้โจทก์จะยกเอาอายุความเป็นเหตุไม่ฟ้องไม่ชอบเพราะอายุความนั้นถ้าจำเลยไม่ต่อสู้ศาลก็ยกขึ้นไม่ได้ ดังนั้นหากโจทก์จะได้รับความเสียหายก็เป็นความบกพร่องละเลยของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 เป็นปลัดไม่มีหน้าที่และรับผิดเกี่ยวกับการฟ้องร้องบังคับคดี การที่จำเลยที่ 2ไม่ฟ้องร้องบังคับตามข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์ได้รู้ถึงการกระทำละเมิดของจำเลยและรู้ว่าจำเลยจะต้องรับผิดแล้วตั้งแต่มีการประชุมสภาเทศบาลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันรู้ คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง อาคารพาณิชย์ 2 คูหา มีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ไม่เกินเดือนละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาจะต้องวินิจฉัยในข้อแรกมีว่า มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายรังสรรค์ โสธรวิทย์ หรือไม่หากมีการทำบันทึกข้อตกลง บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีนายสุรพล กาญจนวิจิตร นายประจักษ์ จินาพันธ์ และนายสำรวย จันทนปเป็นพยานเบิกความว่า ในเดือนกันยายน 2516นายรังสรรค์ได้มาทำความตกลงกับโจทก์ว่า นายรังสรรค์จะยกที่ดินจำนวน 4 ไร่เศษ ให้แก่โจทก์ เพื่อทำการก่อสร้างตลาดสด เมื่อโจทก์ก่อสร้างตลาดสดเสร็จ นายรังสรรค์จะก่อสร้างอาคารพาณิชย์รอบตลาดสดดังกล่าว และจะยกอาคารพาณิชย์จำนวน 2 คูหา หมายเลข 52 และ 53 ตามแบบแปลนเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ โดยนายรังสรรค์จะเช่าอาคารพาณิชย์ทั้ง 2 คู่หา นั้นจากโจทก์ในราคาค่าเช่าเดือนละ 200 บาท ต่อคูหา หากนายรังสรรค์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์2 คูหาไม่เสร็จภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ตลาดสดเปิดดำเนินการแล้วนายรังสรรค์จะต้องชำระค่าเช่าแก่โจทก์ตามอัตราดังกล่าว ปรากฎตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 (ตรงกับเอกสารหมาย ป.จ.1)นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายทองปอน งามหลอด ซึ่งดำรงตำแหน่งเสมียนหมวดช่าง เป็นพยานเปิดความว่า พยานเป็นผู้พิมพ์ต้นฉบับบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่คำเบิกความของตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ขณะรับมอบงานไม่เคยเห็นต้นฉบับบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายรังสรรค์ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่ามีการทำต้นฉบับเอกสารหมาย จ.1 จริง คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่มีข้อพิรุธในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น นายสุรพลดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับข้อตกลงส่วนนายประจักษ์และนายสำรวยดำรงตำแหน่งเทศมนตรีได้ลงลายมือชื่อในฐานะพยาน และนายทองปอนลงลายมือชื่อในฐานะผู้พิมพ์พยานโจทก์ทุกปากล้วนเกี่ยวข้องกับบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายรังสรรค์โดยตรง คำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำนายรังสรรค์มาทำความตกลงกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายรังสรรค์จริง ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อความในสำเนาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 แล้วเห็นว่า เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดบุคคลสิทธิขึ้นในอันที่จะเรียกร้องให้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์และนายรังสรรค์ จึงบังคับกันได้ตามกฎหมาย ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับนายรังสรรค์และทายาทของนายรังสรรค์ให้รับผิดตามข้อตกลงเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า หลังจากที่นายสุรพลทำความตกลงกับนายรังสรรค์แล้ว โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างตลาดสดจนแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2518แต่นายรังสรรค์มิได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามข้อตกลงระหว่างนี้นายสุรพลพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี จำเลยที่ 1เข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อมา แต่จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับให้นายรังสรรค์ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้จนกระทั่งปี 2521 นายรังสรรค์ถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการฟ้องบังคับเอาแก่ทายาทของนายรังสรรค์กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนคดีขาดอายุความ ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับเอาแก่กองมรดกของนายรังสรรค์ได้ ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปติดตามทวงถามทายาทของนายรังสรรค์ จำเลยที่ 2ไปทวงถามแล้ว แต่ขณะนั้นทายาทของนายรังสรรค์อยู่ระหว่างขอจัดการมรดกของนายรังสรรค์จึงยังไม่อาจดำเนินการอย่างใดได้ต่อมาเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งนายเต็กอู่เป็นผู้จัดการมรดกของนายรังสรรค์ จำเลยที่ 1 ได้ไปทวงถามแต่ไม่พบนายเต็กอู่ จำเลยที่ 1 ยังมิได้ฟ้องคดีเนื่องจากหาต้นฉบับเอกสารตัวจริงไม่พบ และคิดว่านายเต็กอู่จะยกที่ดินให้โจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำนายรังสรรค์มาทำความตกลงกับโจทก์ และยังได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และนายรังสรรค์ด้วยดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมจะทราบดีอยู่แล้วว่านายรังสรรค์มีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากนายสุรพล จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้แทนโจทก์จำเลยที่ 1 ชอบที่จำดำเนินการเรียกร้องให้นายรังสรรค์ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1คงปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนกระทั่งนายรังสรรค์ถึงแก่กรรมในปี 2521และจำเลยที่ 1 ก็ยังปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปจนถึงปี 2528 เป็นเวลาเนิ่นนานถึง 7 ปี โ่ดย มิได้ฟ้องบังคับเอาแก่ทายาทของนายรังสรรค์จนคดีขาดอายุความมรดกแล้ว เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปทวงถามทายาทของนายรังสรรค์ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมายอันเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้วส่วนอำนาจในการฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2หาได้มีอำนาจเช่นนั้นไม่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดโจทก์มีนายสมจิตร ไชยราช ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถฟ้องบังคับให้ทายาทของนายรังสรรค์ชำระค่าเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา เป็นเงินเดือนละ 400 บาท นับแต่ปี 2521 เป็นระยะเวลา 12 ปี เป็นเงิน 57,600 บาท และไม่สามารถฟ้องบังคับให้ทายาทของนายรังสรรค์โอนกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์จำนวน 2 คูหาให้แก่โจทก์ได้ ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์คิดตามมูลค่าอาคารพาณิชย์เป็นเงิน 272,026 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 329,626 บาท และมีนายสมพงษ์ โสรัจจ์ ซึ่งรักษาการในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธรเป็นพยานเบิกความว่า มูลค่าอาคารพาณิชย์นั้นถือตามราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร เห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความยืนยันถึงความเสียหายของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในข้อนี้ไว้ ทั้งยังนำสืบข้อเท็จจริงเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์อีกด้วย ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จข้อเท็จจริงได้ความตามรายการสอบข้อเท็จจริงเอกสารหมาย จ.7 ว่านายรังสรรค์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2521 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรก บังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับเอาแก่ทายาทของนายรังสรรค์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นายรังสรรค์ถึงแก่กรรม แต่จำเลยที่ 1ปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องคดีจนขาดอายุความ จึงถือได้ว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันพ้นกำหนดอายุความ คือ วันที่ 13 เมษายน 2522จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปแต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10ตุลาคม 2528 จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2528 ตามที่โจทก์ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 329,626 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1