โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (เดิม) ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 เดือน ฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 เดือน ฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่น คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) (เดิม) ประกอบมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่งจำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี เมื่อรวมโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองขับและซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผ่านที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยทั้งสามกับพวกกำลังเล่นน้ำสงกรานต์ ผู้เสียหายที่ 1 แสดงอาการไม่พอใจที่พวกของจำเลยทั้งสามสาดน้ำใส่ตนทั้งที่ห้ามแล้ว ต่อมาประมาณครึ่งชั่วโมงผู้เสียหายทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ผ่านที่เกิดเหตุอีกครั้งและถูกพวกของจำเลยทั้งสามเรียกให้หยุดรถแล้วมีปากเสียงกันก่อนพวกของจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองโดยผู้เสียหายที่ 1 ถูกนายณัฐวุฒิ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4880/2560 ของศาลชั้นต้น ใช้อาวุธมีดแทงหลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสแล้วผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีไป ระหว่างเกิดเหตุมีเสียงคล้ายปืนดัง 3 นัด หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุ พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ล้มอยู่ และตรวจพบปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอก ในที่เกิดเหตุจึงยึดเป็นของกลาง ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผล สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ของจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นพยาน แต่ตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายที่ 1 และตามภาพถ่ายบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลที่ศีรษะด้วย พยานโจทก์ที่เห็นการรุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ทั้งนายอิทธิพล และนายราเมศร์ ไม่ได้ระบุว่า พวกของจำเลยทั้งสามที่รุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ด้วยการชกต่อยนั้นมีผู้ใดใช้อาวุธอื่นนอกจากนายณัฐวุฒิ ที่เป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งจึงมีเพียงคำให้การชั้นสอบสวนของนายอิทธิพล นายราเมศร์ และนางสาวณัฏฐณิชา ที่ระบุว่า นายอิทธิพล เห็นจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง และนายราเมศร์ กับนางสาวณัฏฐณิชา เห็นจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนยืนอยู่ริมถนนที่เกิดเหตุ แม้คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของนายอิทธิพล และนายราเมศร์ จะขัดแย้งกับคำเบิกความในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่การให้การชั้นสอบสวนของนายอิทธิพล และนายราเมศร์ เป็นการให้การภายหลังเหตุเพียงห้าวันยังจดจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีและเชื่อว่ายังไม่คิดปรุงแต่งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งยังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวณัฏฐณิชา ที่ให้การในวันเกิดเหตุว่า เห็นจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืน ที่นายอิทธิพล และนายราเมศร์ ต่างเบิกความว่าไม่เห็นจำเลยที่ 2 ในกลุ่มที่รุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองจึงน่าเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยทั้งสามที่เป็นพวกของตนเองให้พ้นผิด แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าแต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และน่าเชื่อว่าเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา เมื่อพิจารณาประกอบรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ และภาพถ่ายบาดแผลของผู้เสียหาย ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4480/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งปรากบาดแผลที่ศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 แผล จึงสอดคล้องคำให้การชั้นสอบสวนของนายอิทธิพล นายราเมศร์ และนางสาวณัฏฐณิชา พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่านั่งดื่มสุรากับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเล่นน้ำอันเป็นที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ยินเสียงดังผิดปกติจึงลุกออกไปดูและพาบุตรที่เล่นน้ำอยู่มายังจุดจอดรถแล้วเดินทางกลับโดยมีนายจรัญ น้องชายที่เดินทางไปที่เกิดเหตุด้วยกัน และนายสุนทร เบิกความสนับสนุน ซึ่งทั้งสองอ้างว่าไม่เห็นเหตุการณ์ใด ๆ เพราะอยู่ในระยะห่างจากที่เกิดเหตุประกอบกับมีสิ่งบดบังสายตานั้น เป็นคำกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ขณะเกิดเหตุมีทั้งเสียงอาวุธปืน การทะเลาะรุมทำร้ายกันและรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยังล้มอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าไม่เห็นเหตุการณ์ใด ๆ เลย จึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่พวกของจำเลยที่ 2 รุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งเป็นคนละเจตนากับพวกของจำเลยที่ 2 คือนายณัฐวุฒิ ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 อันถือได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายรวมอยู่ในการกระทำของนายณัฐวุฒิ ด้วยก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือคบคิดกับนายณัฐวุฒิ ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำของนายณัฐวุฒิ ดังนี้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เพียงใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ประกอบกับผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ไม่ปรากฏบาดแผลที่เกิดจากการใช้อาวุธปืนตี คงมีบาดแผลเฉพาะถูกแทง ทั้งทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 จำคุก 1 เดือน ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 20 วัน เมื่อรวมกับฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9