โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2560 จาก 4,862,819.43 บาท เป็น 551,541.33 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินส่วนต่างจำนวน 4,311,278.10 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง และตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง คาบเกี่ยวกัน โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) มีระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2582 เป็นเงิน 180,000,000 บาท โดยพื้นที่ที่เช่าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ 1 ประมาณ 1,420 ไร่ 2 งาน 71.17 ตารางวา โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2560 ต่อมาจำเลยที่ 2 ประเมินค่ารายปี 38,902,555.46 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 4,862,819.43 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ระบุเงินภาษีที่ต้องชำระ 551,541.33 บาท โดยคิดคำนวณจากค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินตามสัดส่วนของพื้นที่ที่ดินที่อยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 2 แจ้งผลคำชี้ขาดยืนยันตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนยื่นคำฟ้องโจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ" และมาตรา 5 บัญญัติว่า "ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น... "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ" ให้กินความถึงแพด้วย..." เท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายของสิ่งปลูกสร้างไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและแบบแปลนกับโครงสร้างรับแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์และภาพร่างงานออกแบบโครงเหล็กฐานรากประกอบคำเบิกความของนายชาญยุทธ พนักงานผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านวิศวกรรมในโครงการของโจทก์ว่า การทำแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ของโจทก์จะออกแบบโครงสร้างเหล็กฐานรากเพื่อให้มีขนาด องศา และทิศทางเหมาะสมต่อการจัดวางแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด เมื่อได้แบบที่ต้องการ โจทก์จะต้องขออนุญาตก่อสร้างโครงสร้างเหล็กฐานรากจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องติดตั้งฐานซึ่งมีเสาคอนกรีตก่อนหลังจากนั้นจะนำโครงเหล็กมาติดตั้งบนเสาคอนกรีตแล้วจึงนำแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์มาติดตั้งบนโครงเหล็ก และนางสายสุณีย์ นักวิชาการจัดเก็บรายได้ของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่บนโครงเหล็กซึ่งยึดติดกับเสาคอนกรีตสำเร็จรูป ในการติดตั้งฐานรากส่วนที่เป็นเสาจะมีการขุดหลุมขนาดใหญ่กว่าเสาเล็กน้อยแล้วนำเสาใส่ลงในหลุมคอนกรีตพอกรอบเสาเพื่อให้ตัวเสายึดติดกับพื้นดิน แม้นายประนาท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายชาญยุทธและนางสายสุณีย์จะเบิกความในทำนองว่า แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์สามารถถอดประกอบออกจากโครงเหล็กฐานรากได้ก็ตาม แต่นายชาญยุทธก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าเมื่อติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็ยังไม่คิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่ในการติดตั้ง แสดงว่าโดยสภาพของแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ของโจทก์เป็นทรัพย์ที่ใช้อยู่เป็นประจำกับโครงเหล็กฐานรากเพื่อประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน ทั้งยังได้ความจากนายประนาทว่า แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากแผ่นเหล็กซิลิคอน ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำที่มีการประดิษฐ์ออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าและจากนางสายสุณีย์ว่า แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้เป็นประจำอยู่กับโครงเหล็กฐานรากเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรับแสงอาทิตย์และส่งกระแสไฟฟ้าเข้ากับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า จากสภาพและคุณสมบัติในการทำงานของแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนโครงคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินเพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายอันก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 (1) ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ประจำปีภาษี 2560 โดยกำหนดค่ารายปีในส่วนของแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมโครงสร้างในอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 วรรคสอง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ