โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 341, 352, 353, 354 กับนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561, 4344/2561 และ 4345/2561 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์ที่ 1 มีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 352, 353 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง คดีของโจทก์ที่ 2 ไม่มีมูล จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง (ที่ถูก มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง)
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ที่ 1 ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 353 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท ฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี รวม 24 กระทง ฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี รวม 64 กระทง ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 20,000 บาท รวม 64 กระทง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท ฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 เดือน รวม 24 กระทง คงจำคุก 144 เดือน ฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 เดือน รวม 64 กระทง คงจำคุก 384 เดือน ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 10,000 บาท รวม 64 กระทง คงปรับ 640,000 บาท เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และปรับจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงิน 650,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กับให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4345/2561 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 และหมายเลขดำที่ 4344/2561 ของศาลชั้นต้น ยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 (เดิมและที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 83 สำหรับการกระทำของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ ตามฟ้องข้อ 2.25 ถึง 2.61 ปรับกระทงละ 2,000 บาท จำนวน 37 กระทง รวมโทษปรับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องข้อ 2.62 ถึงข้อ 2.88 กระทงละ 20,000 บาท จำนวน 27 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นปรับจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น 614,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 307,000 บาท รวมโทษปรับฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก 10,000 บาท แล้ว เป็นปรับ 317,000 บาท ยกคำขอให้นับโทษต่อของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4345/2561 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 หมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นเพราะเมื่อจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 20 ปี แล้ว ไม่อาจนับโทษต่อจากคดีอื่นได้อีก ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้ (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี" ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี และคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกัน แต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4345/2561 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกิน 20 ปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4345/2561 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ
ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 หมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนำเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นำไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งแยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 หมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 หมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4300/2561 หมายเลขแดงที่ 1242/2561 ของศาลชั้นต้น มานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 83 สำหรับฟ้องข้อ 2.62 โดยปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2560 ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.62 ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ ตามฟ้องข้อ 2.62 ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 2,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นปรับ 616,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 308,000 บาท ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4345/2561 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์