โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นสำนักงานทนายความ มีจำเลยที่ 2 และนางสาวสุขาวดี เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 หรือนางสาวสุขาวดีลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 2 ยังมีชื่อเป็นหัวหน้าสำนักงานทนายความอีกด้วย โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ย.102/2555 ต่อศาลชั้นต้น โดยโจทก์ตกลงชำระสินจ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องคดีจำนวน 200,000 บาท ไม่รวมค่าฤชาธรรมเนียมตามใบเสร็จรับเงินของทางราชการที่โจทก์ต้องรับผิดชอบเอง หากมีการบังคับคดีต้องชำระค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ตกลงชำระค่าสินจ้างเป็นค่าวิชาชีพทนายความในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาคดี (สืบพยาน) อัตราร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อัตราร้อยละ 8 ของทุนทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยชำระค่าวิชาชีพร้อยละ 30 ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยในคดีชำระหนี้แก่โจทก์ และชำระค่าวิชาชีพที่เหลือร้อยละ 70 ในวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยในคดีหรือในวันที่ได้รับโอนทรัพย์สินตีราคาใช้หนี้จากจำเลยในคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการยื่นฟ้องนางสาวสมใจเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้บังคับนางสาวสมใจชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเป็นเงิน 24,972,693.15 บาท วันที่ 8 มิถุนายน 2555 โจทก์ชำระค่าวิชาชีพเป็นเงิน 749,180 บาท แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 3 กันยายน 2555 โจทก์และนางสาวสมใจตกลงกันได้จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนางสาวสมใจตกลงชำระเงิน 18,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แล้วยังตกลงจดทะเบียนจำนองห้องชุด 47 ห้อง ของอาคารชุด พ. เป็นประกัน หากผิดนัด นางสาวสมใจยินยอมชำระเงิน 22,720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ย.176/2555 ของศาลชั้นต้น ครั้นนางสาวสมใจผิดนัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 2 ให้โจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจในชั้นบังคับคดี วันที่ 8 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 3 นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดทั้งหมดออกขายทอดตลาด โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 18,129,200 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนัดที่ 1 วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ระบุราคาประเมินตามรายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ หากไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล เจ้าพนักงานบังคับคดีจะลดราคาขายเริ่มต้นลงร้อยละ 10 ทุก ๆ นัด แต่เมื่อรวมทุกนัดแล้วราคาขายเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 วันที่ 19 สิงหาคม 2558 นางสาวสมใจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ประเมินราคาใหม่และงดการขายทอดตลาดไว้ก่อนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดและยกเลิกประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ใช้ราคาประเมินของกลุ่มงานประเมินราคาทรัพย์จำนวน 18,129,200 บาท แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีออกประกาศขายทอดตลาดฉบับใหม่ ระบุราคาที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์เป็นเงิน 29,880,000 บาท วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์เสนอราคาซื้อห้องชุดในราคา 20,920,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุด เจ้าพนักงานบังคับคดีขายห้องชุดที่ยึดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งให้โจทก์เตรียมเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยแนบรายละเอียดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปด้วยซึ่งระบุราคาประเมินเป็นเงินเพียง 17,674,200 บาท และโจทก์จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นของโจทก์แล้ว นอกจากนี้ คดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ในการขายทอดตลาดห้องชุดที่ยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาขายเริ่มต้นที่ร้อยละ 70 ของราคาประเมิน ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาห้องชุดที่ยึดเป็นเงิน 18,129,200 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ใช้ราคาประเมินของกลุ่มงานประเมินราคาทรัพย์จำนวน 18,129,200 บาท ดังนั้น หากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและราคาประเมินของคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์เป็นเงิน 18,129,200 บาท ราคาขายในวันดังกล่าวต้องเริ่มต้นที่ 12,690,440 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุราคาที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์เป็นเงิน 29,880,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องตรงตามราคาประเมินที่แท้จริงของคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ แล้วจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของราคาประเมินดังกล่าว ทำให้ราคาขายเริ่มต้นที่ 20,920,000 บาท ไม่ใช่เริ่มต้นที่ 12,690,440 บาท ซึ่งเป็นราคาเริ่มต้นร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ถูกต้องแท้จริง โจทก์จึงเสนอซื้อห้องชุดที่ยึดตามราคาขายเริ่มต้นที่ 20,920,000 บาท แม้เมื่อโจทก์ซื้อห้องชุดดังกล่าวแล้วอาจจะขายห้องชุดได้กำไรเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อดังกล่าว แต่การที่โจทก์เสนอราคาซื้อสูงกว่าราคาขายเริ่มต้นที่ควรจะเป็น ทำให้โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น 8,229,560 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายอันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามที่ไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของราคาประเมิน แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายอาจจะมีส่วนทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ทำให้หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนได้ อย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเพียง 2,790,800 บาท เท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 33.91 ของค่าเสียหายที่โจทก์เสียเงินเพิ่มขึ้นทั้งหมด 8,229,560 บาท ซึ่งเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพฤติการณ์ที่โจทก์อาจจะมีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ไม่ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสามคิดค่าวิชาชีพจากราคาซื้อห้องชุดที่ยึดแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องพิจารณาค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงค่าวิชาชีพตามสัญญาจ้างว่าความที่จำเลยทั้งสามคิดจากราคาซื้อห้องชุดที่ยึดดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ส่วนที่โจทก์ต้องชำระค่าวิชาชีพให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าวิชาชีพแก่จำเลยที่ 1 ต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,100,000 บาท แก่โจทก์ คิดเป็นร้อยละ 25.52 ของค่าเสียหายที่โจทก์เสียเงินเพิ่มขึ้นทั้งหมด 8,229,560 บาท นั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมแก่ความเสียหายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล จึงไม่มีเหตุผลที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขลดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนให้ต่ำไปกว่านี้ และค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยข้อความใหม่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว บัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวใช้บังคับ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 อัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์