คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ.2486 มาตรา 8, 14 ทวิ จำคุก 1 ปี และปรับ 8,801,050 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,400,525 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไพ่ของกลาง คดีถึงที่สุด จำเลยขอผ่อนชำระค่าปรับเดือนละ 30,000 บาท ตกลงผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี ศาลชั้นต้นอนุญาต
วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ประสงค์ขอรับโทษกักขังแทนค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายกักขังจำเลยแทนค่าปรับ 3,837,025 บาท มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ครั้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยจำเลยเนื่องจากจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 (1) และวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี (บังคับโทษปรับ) ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระค่าปรับ 3,829,525 บาท ตามคำพิพากษาต่อไป
จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลย 1 ปี แทนค่าปรับ 3,837,025 บาท เป็นกรณีเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังมีกำหนด 1 ปีแล้ว หากจำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี ก็ไม่ต้องชำระค่าปรับในส่วนที่เหลือ เมื่อโทษกักขังจำเลยได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยรับโทษกักขังครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษปรับที่เหลือและโทษปรับนั้นเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย การออกหมายบังคับคดีให้จำเลยชำระค่าปรับส่วนที่เหลืออีกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 (1) เฉพาะในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แต่โทษปรับตามคำพิพากษายังคงมีอยู่ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับโทษปรับ โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษา และยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าวมานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกักขังเป็นโทษประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และตามมาตรา 29 มาตรา 29/1 และมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากมิได้มีการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ต้องโทษปรับจะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นอาจถูกกักขังแทนค่าปรับ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษปรับ โดยหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังจำเลยมีกำหนด 1 ปี แทนค่าปรับ 3,837,025 บาท และจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับจนต้องรับโทษกักขัง จึงเป็นกรณีที่โทษเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นโทษปรับ ได้เปลี่ยนไปเป็นโทษกักขังจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี แทน เพราะหากจำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่มีโทษปรับที่จะต้องถูกบังคับอีกต่อไป ต่อมาเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง (2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ" ส่วนมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี" ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับค่าปรับในส่วนที่เหลือจึงมิได้รับพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใดนั้น หมายถึงเฉพาะนักโทษเด็ดขาดซึ่งยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษ แต่ไม่รวมถึงการยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย ตามมาตรา 5 วรรคสอง แต่ในส่วนของจำเลยคดีนี้ เป็นนักโทษเด็ดขาดและเป็นผู้ต้องกักขังแล้วตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) หาใช่วรรคสองไม่ ถือได้ว่า โทษกักขังในส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งจำเลยจะต้องรับเป็นอันสิ้นสุดลงอันเป็นไปตามผลของกฎหมาย โทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงสิ้นสุดลง ไม่แตกต่างจากการที่จำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี จึงไม่มีโทษปรับที่จำเลยจะต้องถูกบังคับอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับโทษปรับ โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าปรับตามคำพิพากษา และยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น