คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกบริษัท อ. ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 บริษัท ท. ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และนางหรือนางสาวมะลิวรรณ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 3
ผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้มีคำสั่งเลิกบริษัทดังกล่าวและแต่งตั้งนายยุทธนา ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้ร้องทั้งยี่สิบแปด ซึ่งประกอบอาชีพเป็นทนายความมีความรู้ความสามารถเป็นผู้ชำระบัญชีนำทรัพย์สินชดใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ตามกฎหมายต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เลิกบริษัท อ. ผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัท ท. ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ในส่วนที่ขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสมพงษ์ และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ว. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายสมพงษ์ และบริษัท ว. ว่าหลอกหลวงให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 เข้าร่วมลงทุน ขอให้ร่วมกันคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านที่ 2 นายสมพงษ์และบริษัท ว. คืนเงิน 106,000,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ยกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 428/2560 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 มีอำนาจร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ได้หรือไม่ และผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มีอำนาจร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ หรือไม่ เห็นว่า บริษัทจำกัดถูกก่อตั้งโดยบุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปมีทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และมีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันเป็นผู้จัดการบริษัทจำกัดตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง กรรมการมีอำนาจตามข้อบังคับของบริษัทแล้วยังมีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1159 ถึงมาตรา 1164 และถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ในการเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้ เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บริษัทจำกัดจึงถูกจัดการโดยกรรมการของบริษัท มีผู้ถือหุ้นของบริษัทครอบงำการจัดการ ส่วนเจ้าหนี้ของบริษัทจะใช้สิทธิเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่กรณีการเลิกบริษัทจำกัดหากมีเหตุให้เลิกบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 หรือตามมาตรา 1237 ไม่มีบทมาตราใดในหมวด 4 บริษัทจำกัด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทได้ คงมีแต่กรณีที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเนื่องจากบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนให้กลับคืนสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 แม้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงทุนและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อาจจะยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดีนี้) ส่วนผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 มีสิทธิยื่นคำร้องขอเลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า มีเหตุให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มีนายยุทธนา ผู้รับมอบอำนาจเบิกความเป็นพยานว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกับบริษัท ว. โดยสืบเนื่องมาจากปี 2542 ที่บริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และบริษัท ว. หลอกลวงด้วยการโฆษณาต่อบุคคลภายนอกให้มาร่วมลงทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาที่ดินที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยจะให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หยุดประกอบกิจการมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยพิจารณาจากงบการเงิน ระบุว่าไม่มีรายได้หลัก และขาดทุนสะสมตลอดมา กรรมการบริษัทไม่เคยมีการนัดประชุมและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 กรรมสิทธิ์ในที่ดินตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จำนวน 9 แปลง มีชื่อบริษัท ว. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีความขัดแย้งกันในผู้ถือหุ้นทำให้มีการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายสมพงษ์และผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้มีเจตนาที่จะพัฒนาที่ดินตามที่โฆษณาแก่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 จึงมีเหตุที่จะเลิกบริษัท ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มี นายเบนนี่ กรรมการผู้มีอำนาจผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยังคงประกอบกิจการอยู่ มีการนำส่งงบการเงินและมีรูปถ่ายสถานที่ประกอบกิจการมาแสดง ปัจจุบันบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบธุรกิจนำเข้าช็อกโกแลต ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่นายยุทธนามาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องนั้น แม้นายยุทธนาไม่มาศาลให้ทนายผู้คัดค้านถามจนจบคำถามค้านก็ไม่ทำให้คำเบิกความของนายยุทธนารับฟังไม่ได้เสียทีเดียว ส่วนคำเบิกความนั้นจะมีน้ำหนักหรือน่าเชื่อถือเพียงใดย่อมเป็นดุลพินิจของศาล ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มิใช่มีแต่คำเบิกความของนายยุทธนาเท่านั้น แต่ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 ยังมีเอกสารเป็นพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลให้เห็นว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ประกอบกิจการ โดยเฉพาะตามแบบนำส่งงบการเงินของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 บริษัทมีขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในปี 2548 ถึงปี 2552 ไม่มีรายได้ และขาดทุนสะสมปี 2548 ถึงปี 2552 จำนวน 29,287.67 บาท 2,287.67 บาท 3,662.33 บาท 4,337.67 บาท 46,597.39 บาท ตามลำดับ ส่วนปี 2553 และปี 2554 บริษัทมีรายได้รวม 28.77 บาท และขาดทุนสะสมในปี 2553 และปี 2554 จำนวน 89,923.72 บาท และ 136,196.98 บาท ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ตั้งแต่ปี 2551 ส่วนบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 งบการเงินตั้งแต่ปี 2551 และปี 2552 ไม่มีรายได้ ปี 2553 มีรายได้ 2.04 บาท ปี 2554 มีรายได้ 75,303.33 บาท และปี 2555 ไม่มีรายได้ ทั้งยังปรากฏว่ามีการนำเงินไปลงทุนในบริษัท ว. และบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ในปี 2555 ถึงปี 2558 เจือสมกับที่นายเบนนี่ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัท ว. มีกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลเดียวกัน ก่อนหน้านี้บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ว. ได้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัท ว. ซึ่งบริษัท ว. นำเงินไปลงทุนซื้อที่ดิน 9 แปลง ทำให้บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหนี้ ส่วนบริษัท ว. มีแต่ทรัพย์สินไม่มีหนี้สิน จึงโอนหนี้สินของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ไปให้บริษัท ว. นอกจากนี้นายเบนนี่ ยังตอบคำถามค้านในคดีหมายเลขดำที่ 4408/2558 ที่ศาลแขวงนนทบุรีว่า ตั้งแต่ตั้งบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัท ว. ไม่เคยมีการประกอบกิจการเลย ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่จัดตั้งบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 มา ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยประกอบธุรกิจใด ๆ นอกจากให้บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 หาเงินลงทุนให้กับบริษัทไวท์ แซน บีช จำกัด และที่บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า มีการประกอบกิจการจำหน่ายช็อกโกแลตในปี 2559 นั้น ก็เป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดได้มีการยื่นคำร้อง ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 4 ปี แล้ว ส่วนที่บริษัทผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่า ประกอบกิจการร้านอาหารนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ยังประกอบกิจการอยู่ แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่นายเบนนี่ เบิกความว่า เดิมเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และปัจจุบันมีการย้ายสถานประกอบกิจการไปแล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านและมีการประกาศขายไม่มีป้ายชื่อบริษัทหรือร้านอาหารใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินกิจการดังกล่าว อีกทั้งตามภาพถ่ายภาพที่ 1 ที่นายเบนนี่ อ้างว่าเป็นร้านอาหารของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ก็มีป้าย ระบุว่า "ท. สอนเสริมสวย" ดังนั้น พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังได้ว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการไปมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวและหยุดกิจการเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ตามที่ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 กล่าวอ้าง อันเป็นเหตุในการที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 (2) ที่บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม และ (3) ที่บัญญัติว่า ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรตั้งกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีหรือไม่ เห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องหยุดประกอบกิจการเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดกับผู้คัดค้านทั้งสาม หากตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การชำระบัญชี ประกอบกับนายสมพงษ์ หนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกดำเนินคดีอาญาและถูกออกหมายจับ การที่จะตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีอาจจะเกิดความไม่โปร่งใสและไม่เป็นกลางได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นคนกลางในการเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 และผู้คัดค้านทั้งสามทั้งสามศาลให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ