โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 721 จำเลยที่ 1เป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กับนายบรรจบ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 612 โจทก์ได้ใช้เส้นทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 612 เข้าออกที่ดินของโจทก์จนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกิน10 ปี ที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับนายบรรจบจึงตกเป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินของโจทก์ ต่อมาเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2530จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริวารได้สมคบกันขุดรื้อ ทำลายทางภารจำยอมดังกล่าว และใช้ไม้ปักขวางกั้นทางภารจำยอม การกระทำของจำเลยทั้งสองและบริวารทำให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ บริวารโจทก์รวมทั้งชาวบ้านใช้ทางภารจำยอมดังกล่าวไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนไม้ที่ใช้ปักขวางกั้นทางภารจำยอม และปรับสภาพทางภารจำยอมโดยการใช้ดินลูกรังถมกลบทางภารจำยอมที่จำเลยทั้งสองได้ขุดรื้อทำลายตามคำฟ้องให้อยู่ในสภาพปกติเพื่อให้โจทก์ใช้สัญจรเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์หรือสัญจรเพื่อที่จะออกไปสู่ทางหลวงจังหวัดสายตราด - แหลมงอบโดยปกติและห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์รื้อถอนไม้และใช้ดินลูกรังถมกลบทางภารจำยอมให้อยู่ในสภาพปกติโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้จำเลยที่ 1ไปจดทะเบียนภารจำยอมตามกฎหมายบนที่ดินโฉนดเลขที่ 612 เลขที่ดิน 32ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ต่อเจ้าพนักงานที่ดินถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมทั้งหมดต่อเจ้าพนักงาน
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ทางพิพาทระบายสีเขียวตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นทางภารจำยอม ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องอันเป็นการเสื่อมสิทธิแห่งสามยทรัพย์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมรื้อถอนไม้ที่ปักขวางทางพิพาท ปรับสภาพทางให้อยู่ในสภาพเดิมภายใน 1 เดือน หากจำเลยไม่จดทะเบียนภารจำยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาส่วนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนให้โจทก์เป็นฝ่ายชำระ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบตรงกันและมิได้ฎีกาโต้เถียงกันว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์กับที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยที่ 1 กับนายบรรจบเฟื่องศิริ เดิมเป็นของนางเจอะซึ่งเป็นยายของโจทก์และเป็นย่าของจำเลยที่ 1 ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกันโดยที่ดินของโจทก์อยู่ติดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินจำเลยที่ 1 กับนายบรรจบ สุดเขตทางด้านทิศเหนือที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1มีทางพิพาทเป็นทางดินจากที่ดินโจทก์ออกสู่ทางหลวงจังหวัดสายตราด - แหลมงอบ ปรากฏตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.5 ภายในพื้นที่ระบายสีเขียว และจากการเผชิญสืบของศาลชั้นต้น ทางพิพาทเดิมเป็นทางคนเดินกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตร ปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2530 จำเลยทั้งสองได้ขุดตัดทางพิพาทเป็นร่องน้ำตรงบริเวณก่อนถึงที่ดินโจทก์ เพื่อขวางกั้นมิให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเพราะไม่พอใจที่โจทก์ไม่ยอมให้จำเลยทั้งสองปักเสาไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ และมีความกว้างเท่าใดซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทางเดินนี้อาจเป็นภารจำยอมคือตามหัวคันนาซึ่งมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตรเท่านั้น ได้มีการขยายเป็นทางกว้าง 2.50 เมตร ในปี พ.ศ. 2521 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ตกเป็นภารจำยอมนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าทางพิพาทเดิมมีลักษณะเป็นหัวคันนาซึ่งมีมาตั้งแต่นางเจอะเป็นเจ้าของที่ดิน และบรรดาลูกหลานนางเจอะรวมตลอดทั้งโจทก์ จำเลยได้ใช้ทางดังกล่าวเพื่อออกสู่ทางสาธารณะมาเกินกว่า10 ปีแล้ว ทางพิพาทดังกล่าวซึ่งมีความกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตรจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ แม้จะมีการขยายทางดังกล่าวให้กว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถไถนาวิ่งเข้าออกในภายหลังก็ตามก็ไม่ทำให้ทางภารจำยอมในทางพิพาทสิ้นไปไม่ เพราะยังมีการใช้ทางดังกล่าวอยู่ ทางภารจำยอมจะสิ้นไปต่อเมื่อมิได้ใช้ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 จำเลยจึงหามีสิทธิปิดกั้นหรือขุดทำลายทางพิพาทไม่ ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมดังกล่าวเพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าการขยายทางพิพาทก็เพื่อประโยชน์ในการให้รถไถนาสามารถวิ่งผ่านได้และทั้งโจทก์จำเลยทั้งสองต่างขยายทางในส่วนที่ผ่านที่ดินของตนซึ่งโจทก์นำสืบว่า มีการขยายทางเมื่อปี พ.ศ. 2518 แต่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ต้นปี พ.ศ. 2521 จำเลยทั้งสองจะซื้อรถไถนาเข้าออกทางหัวคันนาเดิมไม่สะดวก จึงขออนุญาตต่อกรมทางหลวงขยายทางพิพาทเชื่อมทางหลวงจังหวัดสายตราด - แหลมงอบ โดยจำเลยทั้งสองมีหนังสือคำขออนุญาตตามเอกสารหมาย ล.8 และหนังสืออนุญาตของกรมทางหลวงให้ทำทางเชื่อมทางหลวงตามเอกสารหมาย ล.10 มานำสืบประกอบจึงทำให้พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนัก ส่วนพยานของโจทก์กลับเจือสมพยานจำเลยกล่าวคือตัวโจทก์เบิกความว่า มีการฝังท่อใต้ถนนเชื่อมกับทางหลวงจังหวัดสายตราด - แหลมงอบแทนสะพานไม้ซึ่งใช้มาจนถึงปี พ.ศ. 2521 เพราะจำเลยต้องการซื้อรถไถนา และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไปขออนุญาตแขวงการทางตราด และว่าพยานมีรถไถนาหลังจากจำเลยทั้งสองมีก่อนแล้ว 3 ปี ปี พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 2ขออนุญาตฝังท่อทำถนนเพราะต้องการซื้อรถไถนา ซึ่งจากคำของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าก่อนปี พ.ศ. 2521 โจทก์ยังไม่มีรถไถนาใช้จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายถนนแต่อย่างใด นอกจากนี้นายสมคิด สามีโจทก์ยังเบิกความอีกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 2 มาพูดว่าจะมีรถไถนากันแล้ว จำเลยที่ 2 ไปขออนุญาตต่อแขวงการทางวางท่อทำทางสู่ถนนสายตราด - แหลมงอบ เมื่อทำทางแล้วพยานและครอบครัวใช้เดินผ่านเรื่อยมา พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนัก น่าเชื่อว่าได้มีการขยายถนนพิพาทจากทางคนเดินประมาณ 50-60 เซนติเมตรรวมทั้งขอบทางไม่เกิน 1 เมตร มาเป็นถนนที่มีความกว้างประมาณ 2.50เมตร เพื่อให้รถไถนาใช้เข้าออกเมื่อปี พ.ศ. 2521 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จึงไม่เป็นเหตุให้ที่ดินจำเลยที่ 1 ต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องยอมรับกรรมนอกเหนือจากทางคนเดินมีความกว้างประมาณ 1 เมตรดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าทางพิพาทระบายสีเขียวตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นทางภารจำยอมทั้งหมดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ซึ่งเห็นว่าทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมเพียงความกว้าง 1 เมตร เท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทระบายสีเขียวตามเอกสารหมาย จ.5มีความกว้าง 1 เมตร เป็นทางภารจำยอม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์