โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 35, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 9, 11 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3 (4) (ข), 4, 26 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4, 45, 47, 50, 144, 146, 148/2 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 282, 319 และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 70,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 80,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 110,000 บาท และผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 140,600 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพบางข้อหาและให้การปฏิเสธบางข้อหา แต่เมื่อไต่สวนพยานโจทก์ไปบางส่วนแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (2) (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 52 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง, 11 วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3 (4) (ข) (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 3 (4) (ข)), 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 45 (1) (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 47 วรรคหนึ่ง, 50 (3), 144 (1) (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 146, 148/2 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) (ที่ถูก 26 (3) (5) วรรคหนึ่ง), 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง (ที่ถูก ต้องปรับบทวรรคหนึ่งด้วย), 319 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 30,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในสถานบริการ จำคุก 2 เดือน ฐานเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้างโดยไม่แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน ปรับ 2,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 2,000 บาท ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร (ที่ถูก และเพื่อหากำไร) โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกันและมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวรวมกันมาในข้อเดียวย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในทุกฐานความผิดเพียงกรรมเดียว หาได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงลงโทษจำเลยสำหรับความผิดในข้อหานี้ได้เพียงกรรมเดียว ให้ลงโทษฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวกับฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารโดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี (ที่ถูก และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิง) ฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี และฐานส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 9 ปี รวมจำคุก 17 ปี 2 เดือน และปรับ 34,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 7 เดือน และปรับ 17,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 เป็นเงินคนละ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิง ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และฐานส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ให้ลงโทษฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปีเพียงกรรมเดียว จำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 7 ปี 1 เดือน และปรับ 17,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปีตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2), 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กับความผิดฐานส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) (5), 78 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกัน มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และมีลักษณะการกระทำความผิดแตกต่างกัน ซึ่งความผิดตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของเด็กแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดต่างกรรม เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) ไม่ต้องมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กเป็นองค์ประกอบความผิดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของเด็ก ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ด้วย และเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) ด้วยเช่นกัน ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดทั้งสองฐานตั้งแต่ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือเป็นธุระจัดหา ล่อไป ชักพาไป จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้เพื่อให้เด็กกระทำการค้าประเวณี อันเป็นการสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองจากการค้าประเวณีของเด็ก ซึ่งการค้าประเวณีของเด็กก็เป็นการประพฤติตนไม่สมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) อยู่ในตัวด้วยแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของเด็กเท่านั้น ถือว่ามีเพียงเจตนาเดียว เมื่อความผิดของจำเลยทั้งสองฐานต่างมีองค์ประกอบความผิดเหมือนกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานค้ามนุษย์โดยจำคุก 6 ปี เหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาทำนองว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่กลางเมืองอุดรธานีและมีการโฆษณาเชิญชวนลูกค้ามาใช้บริการโดยโชว์รูปร่างเด็กและผู้หญิงที่เป็นลูกจ้างของจำเลยทางแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊กโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายขอให้ลงโทษสถานหนัก เห็นว่า ความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) นั้น มีการกระทำที่จะเป็นความผิดตั้งแต่เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องกลับปรากฏว่าผู้เสียหายที่เป็นเด็กและผู้หญิงต่างมาทำงานที่ร้านของจำเลยด้วยความสมัครใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ความรุนแรงหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายและนอกจากข้อหานี้จำเลยยังได้รับการลงโทษในข้อหาอื่นอีก ส่วนข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกามานั้นยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่ลงโทษจำเลยหนักขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยมานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน