โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นจังหวัดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ว่าด้วยระเบียบการบริหารส่วนภูมิภาคมีอำนาจและหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการ ซึ่งประจำอยู่ในสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูน ตลอดจนเกี่ยวกับเรื่องเงินของสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของกรมป่าไม้ และโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดลำพูน ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากป่าไม้จังหวัดลำพูนให้ทำหน้าที่หัวหน้าหมวดอนุญาตรวมทั้งการสงวนและบำรุงป่า เป็นผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดตลอดจนรักษาการแทนป่าไม้จังหวัด ในกรณีที่ป่าไม้จังหวัดไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้และเป็นกรรมการรักษาเงินประจำสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูน โจทก์ได้รับรายงานว่า นายจรัล สาระกูล พนักงานป่าไม้ ๒ ซึ่งทำหน้าที่สมุห์บัญชีได้ทุจริตยักยอกเอาเงินของสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนแล้วหลบหนีไป โจทก์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ผลการสอบสวนคณะกรรมการมีความเห็นว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องและจะต้องร่วมรับผิดชอบกับนายบุญเกิด กาวีต๊ะ ป่าไม้จังหวัดลำพูน รวม ๔ รายการ เป็นเงิน ๕๙,๕๗๑.๓๓ บาท คือ เงินค่าน้ำประปาและไฟฟ้า จำเลยจะต้องรับผิด ๘๓.๔๘ บาท เงินค่าเช่าบ้านจำเลยต้องรับผิด ๑,๑๔๔ บาท เงินค่าภาคหลวงจำเลยต้องรับผิดจำนวน ๙,๐๕๒.๔๐ บาท และเงินมัดจำเพื่อตรวจวัดตีตราค่าภาคหลวงไม้สักจำเลยต้องรับผิดจำนวน ๔๙,๑๙๑.๔๕ บาทรวมเป็นเงิน ๕๙,๔๗๑.๓๓ บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชดใช้เงินดังกล่าวแก่สำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูน แต่จำเลยไม่ยอมชดใช้
จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๕๙,๔๗๑.๓๓ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่านายจรัล สาระกุล พนักงานป่าไม้ ๒ ทำหน้าที่สมุหบัญชีของสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนทุจริตยักยอกเงินของสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนไปรวม ๑๔ รายการเป็นเงิน ๔๕๔,๐๐๐.๔๓ บาท คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งเห็นว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบร่วมกับนายบุญเกิด กาวีต๊ะ ป่าไม้จังหวัดลำพูน รวม ๔ รายการเฉพาะส่วนของจำเลยคือ เงินค่าไฟฟ้าจำนวน ๘๓.๔๘ บาท เงินค่าเช่าบ้านจำนวน ๑,๑๔๔ บาท เงินค่าภาคหลวงจำนวน ๙,๐๕๒.๔๐ บาท และเงินมัดจำเพื่อตรวจตีตราค่าภาคหลวงจำนวน ๔๙,๑๙๑.๔๕ บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบ ๕๙,๔๗๑.๓๓ บาท แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบ แทนที่กรมป่าไม้ซึ่งสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนเป็นหน่วยงานในสังกัดจะเป็นผู้ฟ้อง จังหวัดลำพูนโดยม.ล.ภัคสุก กำภู ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนกลับเป็นโจทก์ฟ้อง ปัญหาจึงมีในเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเงินค่าไฟฟ้า เงินค่าเช่าบ้านและเงินค่าภาคหลวงเป็นเงินในงบประมาณของกรมป่าไม้ ส่วนเงินวางมัดจำแม้จะเป็นเงินนอกงบประมาณแต่ก็เป็นเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดของกรมป่าไม้ เมื่อมีผู้กระทำละเมิดทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไป กรมป่าไม้ย่อมเป็นผู้เสียหาย หาใช่จังหวัดลำพูนไม่ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจังหวัดลำพูนมีอำนาจฟ้องโดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ข้อ ๕๐, ๕๓ นั้น เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายไม่ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ