โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ๓๖,๒๔๖.๕๘ บาท และ ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มของต้นเงิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท คิดถึงวันฟ้อง ๑,๖๒๐,๐๐๐ บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะเวลา ๗ วัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย โจทก์เป็นผู้รับจ้างเป็นที่ปรึกษามีกำหนดเวลาชัดเจนและแน่นอน เป็นงานตามโครงการ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๒) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า? คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากอุทธรณ์ของโจทก์และคำเบิกความของพยานจำเลยว่า ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจก็ย่อมตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ และเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ มิให้บังคับแก่? (๒) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นการอ้าง บทกฎหมายคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างจากจำเลย ซึ่งเมื่อปรับบทกฎหมายตาม ข้อหาของโจทก์ดังกล่าวแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๑) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ คดีจึงมีปัญหาตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งระเบียบคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๓ กำหนดว่า "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และคำว่า "พนักงาน" นั้น พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ บัญญัติว่า "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจแต่ไม่หมายความรวมถึงฝ่ายบริหาร เห็นได้ว่า โจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์ตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานให้ ซึ่งงานที่โจทก์ทำนั้นก็เป็นงานตามปกติในธุรกิจการธนาคารของจำเลย ทั้งในการทำงานจำเลยสั่งการถึงโจทก์และโจทก์สั่งการต่อไปยังพนักงานอื่นของจำเลยได้ด้วย โจทก์จึงมีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าตามสัญญาว่าจ้างกำหนดสถานะไว้ว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์เป็นผู้รับจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ดังเช่นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะได้รับ โจทก์ไม่ต้องมีบัตรพนักงาน โจทก์ไม่เคยถูกประเมินผลงานหรือได้รับการปรับเงินเดือนรายปีแต่อย่างใดทั้งโจทก์ไม่มีรายชื่อใน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยด้วยนั้นเป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์แตกต่างจากพนักงานอื่นอันเกิดจากความเห็นของจำเลยเท่านั้นซึ่งการปฏิบัติที่แตกต่างดังกล่าว ยังไม่พอที่จะถือว่าโจทก์มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น?
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.