โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 520,519.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 499,176.32 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้องจริง แต่มีเจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานทั่วไปเท่านั้น ไม่มีเจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานขาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยช่างเทคนิค 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งอันควรเข้าใจได้ว่าไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวการค้าขายตลอดจนเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินแต่อย่างใด โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ สัญญาค้ำประกันเป็นข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดผูกพันแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้ประกัน ทั้งการตีความตามสัญญาจะต้องเป็นไปโดยเคร่งครัดในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเสียประโยชน์ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจากการค้ำประกัน เมื่อโจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยช่างเทคนิค 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตลาด การเงินแต่อย่างใด โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวาระแรกที่จำเลยที่ 1 เริ่มทำงาน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 มุ่งหมายค้ำประกันความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้ช่วยช่างเทคนิค 1 เท่านั้น ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นพนักงานขายและให้มีหน้าที่เก็บเงินค่าสินค้าที่ขายได้โดยไม่มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันใหม่ แม้สัญญาค้ำประกันจะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอะไรไว้ก็ตาม การที่โจทก์ปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายซึ่งเพิ่มการเสี่ยงภัยมากขึ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดความเสียหายไม่จำกัดจำนวน และไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนสัญญาจ้างแรงงาน ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันได้ยอมรับผิดโดยไม่ได้จำกัดว่าจำเลยที่ 1 จะได้ทำงานในตำแหน่งใด และโดยปกติในการทำงานลูกจ้างย่อมมีโอกาสจะได้ก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกัน เมื่อตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 และข้อ 4 มีข้อความชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ มิได้มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยช่างเทคนิค 1 และจำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบขณะที่จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ต่อมาตำแหน่งของจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนเป็นพนักงานขายซึ่งอาจมีผลเป็นการเพิ่มภาระการเสี่ยงภัยให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันมีต่อโจทก์ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ได้นำผู้ค้ำประกันคนใหม่มาร่วมรับผิดหรือมารับผิดแทนผู้ค้ำประกันคนเดิมเลย จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นความรับผิด คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ในจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนความเสียหายดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินคืนให้โจทก์จำนวน 520,519.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 499,176.32 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์.