โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 294,834.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 147,309 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ยอมรับฎีกาต่อศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนและทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาโดยสรุปว่า พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ค่าเสียหายสูงเกินและศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสูงเกินไปนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อาจรับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองได้ กรณีไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาต้องแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองอีก
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากผู้ใดและผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องรับผิดอย่างไร ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในนามของผู้ใดด้วยมูลหนี้ใด ซึ่งเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้อง มิใช่รายละเอียดที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วว 3951 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทนและจำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าว โดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์โจทก์ถูกชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 และหรือผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ด้วยเหตุที่มีข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้เอาประกันภัย ส่วนจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อผู้ใดจะเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะคำฟ้องไม่ปรากฏว่าผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เมื่อผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่เคลือบคลุม ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วว 3951 กรุงเทพมหานคร และจะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา เช่นนี้จำเลยที่ 2 ย่อมตรวจสอบรายละเอียดและทราบข้อเท็จจริงดีว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ใด ไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากฟ้องโจทก์ ประกอบกับข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทเวิลด์คลาสเรนท์ อะ คาร์ จำกัด ผู้เอาประกันภัย ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปตรวจเช็คสภาพ จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้โดยผู้เอาประกันภัยยินยอมแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่ากฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2