โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 112030ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีทางเข้าออกสู่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย มีความกว้าง 1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ในที่ดินดังกล่าวเป็นทางภารจำยอม ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในทางดังกล่าว และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรั้วกำแพงออกไป หากไม่รื้อให้โจทก์ทั้งสิบมีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร โดยรื้อรั้วกำแพงออกไปห้ามจำเลยปิดกั้นและขัดขวางการใช้และให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวในที่ดินโฉนดเลขที่ 112030 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112031, 237218, 178785 และ 237219 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาคำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 10
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีนางทิม มาบำรุง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อปี 2518 นางทิมแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 4 แปลง นางทิม ยกที่ดิน 1 แปลง ให้นางจำเนียรมาบำรุง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 เอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 นางทิมได้ยกที่ดินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 แปลงตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112031 และ 112032 เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมานางจำเนียรยกที่ดินโฉนดเลขที่ 112030 ให้แก่นางสาวรุ่ง รุ่งใหรัญ และจำเลยซื้อที่ดินแปลงนี้ได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 สำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ต่อมาได้แบ่งขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย จ.4 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อที่ดินตามโฉนดต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้อง และส่วนใดที่ได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยฎีกาเป็นประการที่สองว่า ทางพิพาทมิใช่เป็นทางภารจำยอมนั้นฝ่ายโจทก์มีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า นางทิมทำทางพิพาทมานาน 20 กว่าปี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกมาเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี โดยโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 112031 และ 112032 ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จากนางทิมเมื่อปี 2518 ส่วนโจทก์ที่ 2 มาเช่าบ้านนางแดงเมื่อปี 2517 ซึ่งนางแดงได้เช่าที่ดินจากนางทิมปลูกบ้าน ต่อมาปี 2522 โจทก์ที่ 2 ซื้อบ้านจากนางแดงและเช่าที่ดินจากนางทิม ครั้นปี 2532 โจทก์ที่ 2 ได้ซื้อที่ดินที่ปลูกบ้านจากโจทก์ที่ 1 และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 สำหรับโจทก์ที่ 3 ได้เข้ามาอยู่ในบ้านที่เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านเมื่อปี 2520 ต่อมาโจทก์ที่ 3 ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2531 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 ส่วนโจทก์ที่ 4 ได้เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านเมื่อปี 2517 ย้ายทะเบียนเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เช่าเมื่อปี 2520 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.23 ต่อมาเมื่อปี 2534 โจทก์ที่ 4 ขอซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 และโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกันเมื่อปี 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.6 เห็นว่า พยานโจทก์มีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า นางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทมานาน 20 กว่าปีแล้วโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางจินดา แทนรัตน์ ภริยาโจทก์ที่ 3ซึ่งเช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านตั้งแต่ปี 2520 และโจทก์ที่ 10 ซึ่งมาซื้อบ้านจากนายสนั่นผู้เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านตั้งแต่ปี 2520 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน แม้จะมีผลประโยชน์ในการใช้ทางพิพาท ก็น่าเชื่อว่าได้เบิกความตามความเป็นจริงฝ่ายจำเลยมีเพียงนางสาวนภาพร เตชะรุ่งโรจน์วงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยและนางผ่อง เย็นสำราญ มาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจำเลยมิได้เบิกความปฏิเสธว่าไม่มีทางพิพาทในที่ดินของจำเลย แต่เบิกความเพียงว่าขณะจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเมื่อปี 2528 ทางพิพาทเป็นเลนเดินไม่ได้ พยานกับจำเลยจึงเรียกช่างมาทำทางให้ผู้เช่าบ้านจำเลยจำนวน 54 ห้องใช้เป็นทางเดินในช่วงแรก ๆ ที่เป็นเลนไม่มีคนเดิน เมื่อทำเป็นถนนปูนเสร็จมีคนเข้ามาถือวิสาสะเดินส่วนนางผ่องก็เบิกความว่า นางทิมทำทางพิพาทไว้สำหรับเดิน เดิมทางพิพาทเป็นขี้เลน ผู้ที่อยู่ในที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย ล.1 เป็นผู้ใช้ทางพิพาทและผู้อยู่ท้ายซอยออกสู่ทางสาธารณะโดยทางพิพาท จากคำเบิกความของนางผ่องพยานจำเลยก็เจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าทางพิพาทแม้จะเป็นดินเลนก็มีบุคคลใช้เดินมาตั้งแต่ปี 2518 แล้วมิใช่ไม่มีคนเดินผ่านทางพิพาทดังผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทมา 20 กว่าปีแล้ว และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 แต่ละคนเริ่มใช้ทางพิพาทเดินผ่านเข้าออกตั้งแต่ปี 2517 ถึง 2520 เรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยปิดกั้นทางพิพาทเมื่อเดือนตุลาคม 2537 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วงและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใด ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่านับแต่นางทิมแบ่งแยกที่ดินพิพาทจนกระทั่งทางพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ทางพิพาทโดยถือว่าเป็นทางพิพาทของนางทิมหาได้มีการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทางพิพาทมาครอบครองทางพิพาทอย่างเป็นเจ้าของไม่ และโจทก์ดังกล่าวใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกอย่างวิสาสะจนกระทั่งถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความนั้น เห็นว่า แม้เดิมทางพิพาทจะรวมอยู่ในที่ดินของนางทิม โดยนางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทกว้าง 1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร กลางที่ดินของตนออกสู่ซอยโรงงานไม้ปาร์เกต์อันเป็นถนนสาธารณะนั้นมาประมาณ 20 ปีแล้วก็ตามแต่เมื่อปี 2518 นางทิมได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 4 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 เอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 โฉนดที่ดินเลขที่ 112031 เอกสารหมาย จ.1 และโฉนดที่ดินเลขที่ 112032 เอกสารหมาย จ.2 ส่วนที่ดินแปลงที่ 4 เลขที่ดิน 350 ซึ่งไม่ปรากฏหมายเลขโฉนดที่ดินตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.9 ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 ซึ่งมีทางพิพาทอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวภายหลังจำเลยได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากการขายทอดตลาดเมื่อปี 2528 ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นางทิมได้ยกให้แก่โจทก์ที่ 1เมื่อปี 2518 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวที่ได้รับการยกให้จากนางทิมภายหลังโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 คนละแปลงและโอนทะเบียนต่อกันเมื่อปี 2537, 2531 และ 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.6 ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2518, 2517, 2520 และ 2517 ตามลำดับ เรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยปิดกั้นทางพิพาทเมื่อปี 2537 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้วซึ่งมาตรา 1387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า"อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น" จะเห็นได้ว่าการที่จะมีภารจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 การที่จะได้ภารจำยอมโดยอายุความจะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัย เช่นนี้ก่อนปี 2518 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของนางทิมซึ่งเป็นแปลงเดียวกันยังมิได้แบ่งแยกการใช้ทางพิพาทช่วงนี้จึงเป็นการใช้ในฐานะอาศัยเจ้าของที่ดินไม่เป็นการใช้สิทธิภารจำยอม แต่ต่อมาปี 2518 นางทิมได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็น 4 แปลง ดังได้วินิจฉัยมาแล้วทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 นางทิมได้ยกที่ดิน 2 แปลง ให้โจทก์ที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้น แม้เดิมจะเช่าบ้านของนางแดงเมื่อปี 2517 และนางแดงเช่าที่ดินของนางทิมปลูกบ้านอยู่ โจทก์ที่ 3 ได้เช่าที่ดินของนางทิมเมื่อปี 2520 และโจทก์ที่ 4 ได้เช่าที่ดินของนางทิมเมื่อปี 2520 ก็ตามเมื่อนางทิมแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 4 แปลง และยกให้โจทก์ที่ 1จำนวน 2 แปลง ส่วนที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ปลูกบ้านอยู่ ก็ถือว่าปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2518 เรื่อยมา การที่โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตั้งแต่โจทก์ที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อปี 2518 โจทก์ที่ 2 และที่ 4 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2537 และโจทก์ที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2531 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วง และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใดหรืออาศัยสิทธิใคร โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปี แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ ใช้ทางพิพาทมาไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาท แต่เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันก็เกิน 10 ปี ทางพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน