ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมอบอำนาจฟ้องคดีอาญา และการรับรองใบมอบอำนาจที่ทำในต่างประเทศ ศาลพิจารณาจากความเป็นจริงและหลักทั่วไป
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม อยู่ภายใต้เงื่อนไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสองคือต้องเป็นกรณีที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่า ใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง จึงให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความยื่นใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสามมิได้หมายความว่า ถ้าเป็นใบมอบอำนาจทุกฉบับจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม แม้โจทก์จะลงชื่อในใบมอบอำนาจในต่างประเทศ แต่ตัวโจทก์ก็ได้มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนและได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจจริง จึงไม่มีเหตุอันควรที่ศาลจะสงสัยว่าไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยก็ไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่า ไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งให้โจทก์ส่งใบมอบอำนาจที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 47 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 เป็นกรณีที่ให้อำนาจบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจกัน กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องทำเองหรือไม่ การฟ้องคดีอาญาไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าผู้เสียหายจะต้องทำด้วยตนเองทั้งตามสภาพของการฟ้องคดีอาญาก็มิใช่เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยตนเองเฉพาะตัว โจทก์จึงมีอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนได้