โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17603, 17615 และ 17743 คืนแก่โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิม โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้สอยที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 6 ปี เป็นเงิน 7,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17603, 46531, 46621 และ 17743 (เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1) ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้โจทก์ชำระเงิน 4,867,250 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และโอนหุ้นคืนจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์ (เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี) ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งสองและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 โดยในศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์กำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17603, 17615 และ 17743 ราคา 14,867,250 บาท ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 17603 มีชื่อนางนงค์นวลเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 17743 มีชื่อนางนงค์นวลกับนายณวัฒน์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 17743 จะซื้อขายกันเพียงครึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ตกลงกันว่า ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อขาย หากที่ดินที่ซื้อขายไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงงานของฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายคืนแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งหมด และโจทก์ตกลงโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 คืนให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 กำหนด โดยค่าใช้จ่ายในการโอนหุ้นเป็นของจำเลยที่ 1 หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ยินยอมให้ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2556 นางนงค์นวล โจทก์ และนางนงค์นวลกับนายณวัฒน์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยบางส่วนชำระเป็นหุ้นให้แก่โจทก์ 100,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท เป็นเงิน 10,000,000 บาท โจทก์เข้ามาเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2555 จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ก่อนและภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงงานได้ภายในกำหนดตามสัญญา วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2662/2562 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยไม่ดำเนินการสร้างโรงงาน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง คืนแก่โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม หรือใช้ราคาแทนพร้อมค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้และฟ้องแย้งให้โจทก์คืนราคาที่ดินเป็นหุ้น 100,000 หุ้น ให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 กำหนด และให้ใช้ราคาที่ดินที่ชำระให้ไปแล้วจนครบถ้วน โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยินยอมคืนหุ้นและเงินอันเป็นราคาที่ดินให้แก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ไกล่เกลี่ยโจทก์และจำเลยทั้งสอง โจทก์ตกลงถอนฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองเสนอให้ขายที่ดินพิพาทในราคาไม่ต่ำกว่า 30,000,000 บาท ภายใน 1 ปี หากไม่มีผู้ซื้อ จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อเอง เมื่อขายที่ดินพิพาทได้แล้ว จำเลยทั้งสองจะแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ แต่จะให้โจทก์ไม่ต่ำกว่า 8,500,000 บาท ในวันเดียวกันโจทก์ได้ถอนฟ้องและจำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง ศาลแพ่งอนุญาตจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 5268/2562 ตามคำฟ้อง คำให้การจำเลยทั้งสองและฟ้องแย้ง และคำให้การโจทก์แก้ฟ้องแย้ง รายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 คำร้องขอถอนฟ้องและคำสั่งศาลแพ่ง ภายหลังการไกล่เกลี่ยตามข้อตกลงกันดังกล่าว วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงตามรายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 และคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติว่า "อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน" ในข้อนี้เมื่อพิจารณารายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 ปรากฏข้อความในช่องรายการอื่น ๆ ว่า โจทก์ตกลงถอนฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองเสนอให้ขายที่ดินพิพาทในราคาไม่ต่ำกว่า 30,000,000 บาท ภายใน 1 ปี หากไม่มีผู้ซื้อ จำเลยที่ 2 ตกลงเป็นผู้ซื้อเอง เมื่อขายที่ดินพิพาทได้แล้ว จำเลยทั้งสองจะแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ให้แก่โจทก์ แต่จะจ่ายให้โจทก์ไม่ต่ำกว่า 8,500,000 บาท และในวันเดียวกันโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้ง ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันที่จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่เดิมตามคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ซึ่งโจทก์ต้องการให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง คืนให้แก่โจทก์ และจำเลยทั้งสองต้องการที่จะให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินทั้ง 3 แปลง ที่โจทก์ได้รับชำระไปแล้วคืนให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างมีเจตนามุ่งหมายให้มีการบังคับต่อกันตามบันทึกข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 จนถึงกับแต่ละฝ่ายต่างยอมถอนฟ้องและฟ้องแย้ง ยิ่งสนับสนุนให้เชื่อว่า ต่างฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทเดิมและผ่อนผันให้ถือตามข้อตกลงใหม่ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แม้ตามคำร้องขอถอนฟ้องและฟ้องแย้งจะมีข้อความว่า มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ ก็เป็นเพียงข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า คู่กรณียอมผ่อนผันเพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงที่บันทึกไว้ ไม่ใช่เป็นเพียงแนวทางในการเจรจาเบื้องต้นหรือเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลสมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะมิเช่นนั้นทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองคงไม่ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและฟ้องแย้ง ส่งผลให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามสัญญาที่แสดงไว้ในบันทึกนั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 6 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ