โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 425ตำบลแม่ระกา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างจำเลยทั้งสองหากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 212,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันมานานหลายปีแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกตกลงทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 425 ตำบลแม่ระกา อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก ที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ตามเดิมหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 212,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2517 และยังมิได้จดทะเบียนหย่ากันจนถึงปัจจุบัน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 425 ตำบลแม่ระกา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่52 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา คือที่พิพาทคดีนี้เดิมเป็นของนายโปร่งฉาวบุตร ต่อมานายโปร่งขายฝากที่พิพาทจนตกเป็นสิทธิแก่ผู้ซื้อฝากจนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2517 จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ซื้อที่พิพาทจากนายวัน ยาคล้ายผู้รับซื้อฝาก ดังนั้นที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 โจทก์แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอวังทองทำบันทึกแนบไว้ในสารบัญจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12มีนาคม 2533 ว่า การโอนที่พิพาทจะต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ก่อนครั้นวันที่ 24 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2โดยให้ถ้อยคำยืนยันต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า หากการจดทะเบียนขายที่พิพาทเกิดความเสียหายใด ๆ จำเลยทั้งสองขอรับผิดชอบเอง ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.4 หนังสือรับรองการทำประโยชน์และสารบาญจดทะเบียนของที่พิพาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ และหากไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ ที่พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่พิพาทมา แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า "นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน" และมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้" ก็ตามแต่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บัญญัติว่า"บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้" ดังนั้น การใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อจำเลยที่ 1 สามีโจทก์มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่พิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์อยู่ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จำเลยที่ 1 จึงยังมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 บัญญัติไว้ และอำนาจจัดการนั้นตามมาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ บัญญัติให้รวมถึงกรณีจำหน่ายด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสามีโจทก์ จึงมีอำนาจที่จะขายที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ได้และที่ดินสินบริคณห์ที่พิพาทนี้มิใช่สินเดิมของโจทก์ หรือสินสมรสที่โจทก์ได้มาโดยทางยกให้หรือพินัยกรรม และการจำหน่ายก็มิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา จำเลยที่ 1 จึงขายที่พิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ไม่เป็นการจัดการที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 1473 เดิม นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
สำหรับปัญหาที่โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาคือจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2โดยชอบดังวินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีภาระอันใดที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนความรับผิดชอบระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายก็เท่ากับโจทก์ฟ้องเรียกเอาส่วนแบ่งของโจทก์ในสินสมรสซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1533 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน และมาตรา 1534เดิมบัญญัติว่า "สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่า การจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533"จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การแบ่งสินสมรสมีได้เมื่อมีการหย่าเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 นำสืบว่าไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่พิพาทแก่โจทก์ กฎหมายก็ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันและศาลมิได้มีคำสั่งให้แยกสินสมรส จึงยังไม่มีการแบ่งสินสมรสกัน โจทก์จึงยังไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์