โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 326, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 326 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ9,000 บาท ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือนและปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 นั้น เมื่อตรวจดูรายงานประจำวันแล้วปรากฏว่า จำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทอภิชาติ สังฆ์พันธ์ เพื่อเป็นหลักฐาน ดังนั้น การแจ้งความของจำเลยดังกล่าวหากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จหรือผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโทอภิชาติต้องทำการสอบสวน เนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ทั้งยังได้ความจากร้อยตำรวจโทอภิชาติ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความว่า เมื่อจำเลยมาแจ้งความแล้ว ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าวเนื่องจากจำเลยต้องการมาแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้นจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้การแจ้งความของจำเลยจึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อเอาผิดต่อจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท" คำว่า "ใส่ความ" นั้น ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เห็นว่าการที่โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ ที่จำเลยแจ้งความระบุว่าหลังจากมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยแล้วโจทก์ขอเงินรถยนต์ และโทรศัพท์มือถือจากจำเลย ทั้งโจทก์ยังใช้วิธีทางไสยศาสตร์ทำให้จำเลยลุ่มหลง ซึ่งเป็นข้อชี้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี พยายามทำให้จำเลยลุ่มหลงและรีดไถปอกลอกทรัพย์สินจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติดังที่วินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าที่ไปแจ้งความนั้นจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดังนั้นแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้ลงโทษปรับ 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9