โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 12 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 2,711,291 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย ว. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกงประชาชน (ที่ถูก ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน) ส่วนข้อหาอื่นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 2,711,291 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายไสวชักชวนโจทก์ร่วมนำเงินมาลงทุนกับบริษัท อ. โจทก์ร่วมนำเงินมาลงทุนกับบริษัทดังกล่าวผ่านทางนายไสวและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายไสว ซึ่งนายไสวแจ้งว่านำเงินลงทุนของโจทก์ร่วมไปให้จำเลย และโจทก์ร่วมได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนดังกล่าว จากนั้นนายไสวให้โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยโดยตรง โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อนำไปลงทุน ทั้งในนามตัวเองและในนามชื่อของบุคคลอื่นตามคำแนะนำของจำเลย โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยรวม 51 ครั้ง เป็นเงินรวม 3,023,352 บาท จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2561 โจทก์ร่วมไม่ได้รับผลตอบแทนของเงินลงทุนจากบริษัท โดยจำเลยแจ้งโจทก์ร่วมว่า บริษัทได้เปลี่ยนวิธีการจ่ายผลตอบแทนการลงทุนจาก 24 เดือน เป็น 15 เดือน และเปลี่ยนการจ่ายผลตอบแทนจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเหรียญดิจิทัลแทน โจทก์ร่วมรอผลตอบแทนตามที่จำเลยแจ้งแต่ไม่ได้รับ จึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยและนายไสวข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ต่อมาโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีแก่นายไสว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด คงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้ถูกหลอกลวง มิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยกับพวกอันจะทำให้โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงชอบแล้ว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมกับนายไสวรู้จักกันเพราะเคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทางหลวงที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 นายไสวส่งข้อความทางเมสเซนเจอร์ชักชวนโจทก์ร่วมให้มาลงทุนกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทระดมเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เช่น ร้านเพชร น้ำมันเครื่องโอดีอาร์ สนามกอล์ฟโอดี ผู้ที่ลงทุนด้วยจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี โดยบริษัทจะจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเดือนละครั้ง เป็นเวลา 24 เดือน และนายไสวยังส่งข้อมูลการลงทุนรวมทั้งรายได้ที่นายไสวได้รับจากเงินลงทุนกับบริษัทดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมดู โจทก์ร่วมสนใจที่จะลงทุนกับบริษัทจึงติดต่อนายไสวทางโทรศัพท์ นายไสวแจ้งว่าให้โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 18,500 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสวแล้วนายไสวจะนำเงินไปลงทุนตามแพ็กเกจที่บริษัทกำหนดและนายไสวให้โจทก์ร่วมส่งข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมส่งข้อมูลตามที่นายไสวแจ้งและโอนเงิน 37,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสว จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง มีข้อความส่งมาทางอีเมลแจ้งว่า บริษัทรับโจทก์ร่วมเป็นสมาชิกของบริษัทพร้อมกับแจ้งรหัสประจำตัวผู้ลงทุนของโจทก์ร่วมและรหัสผ่าน แล้วนายไสวส่งข้อมูลเว็บไซต์ของบริษัทให้โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเข้าระบบไปตรวจข้อมูลการลงทุนพบว่ามีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ลงทุน จำนวนเงินลงทุน และตารางผลตอบแทน จากนั้นนายไสวส่งสลิปการโอนเงินให้โจทก์ร่วมดูโดยนายไสวได้โอนเงินของโจทก์ร่วมไปให้จำเลย นายไสวแจ้งว่าจำเลยเป็นแม่ทีมที่จะนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนกับบริษัท เพราะผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินไปลงทุนกับบริษัทได้ด้วยตนเอง นอกจากนายไสวเชิญโจทก์ร่วมเข้าร่วมกลุ่มไลน์ชื่อโอดีเอฟวีไอมีสมาชิกกลุ่ม 25 คน ซึ่งเป็นผู้ที่นำเงินมาลงทุนกับบริษัท มีจำเลยเป็นผู้ดูแลกลุ่มไลน์ดังกล่าว แล้วจำเลยส่งแพ็กเกจการลงทุน กิจการที่บริษัทนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับ วิธีการลงทุน วิธีการแนะนำชักชวนผู้มาลงทุน รายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำเข้ามาในกลุ่มไลน์ จำเลยใช้ชื่อในไลน์กลุ่มนี้ว่า "ออมod" โดยจำเลยจะเป็นผู้ส่งแพ็กเกจการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่บริษัทนำเงินผู้ลงทุนไปลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากบริษัท บอกวิธีการลงทุน และวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนผ่านในไลน์กลุ่ม และนายไสวยังเชิญโจทก์ร่วมเข้าไลน์กลุ่มชื่อไพรเวทเอฟวีไอ มีสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้ลงทุนกับบริษัทประมาณ 14 คน โดยจำเลยก็เป็นผู้ดูแลไลน์กลุ่มดังกล่าวเช่นกัน จำเลยจะส่งข้อมูลแจ้งให้ผู้ลงทุนชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาลงทุนกับบริษัท ซึ่งผู้ชักชวนจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผู้ที่นำเงินมาลงทุนด้วยตนเองในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินผู้ลงทุนนำเงินมาลงทุนกับบริษัท หากมีการลงทุนกับบริษัทตั้งแต่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐจะได้ของแถมเป็นทองคำ 1 สลึง และจำเลยยังส่งข้อมูลแนะนำการลงทุน แนะนำดูข้อมูลการลงทุนของผู้ลงทุนที่เรียกว่าแพลตฟอร์มผ่านทางไลน์กลุ่มไพรเวทเอฟวีไอด้วย แพ็กเกจการลงทุนจะประกอบด้วยข้อมูลการลงทุนกับการคำนวณผลตอบแทนที่จะได้จากเงินลงทุนกับบริษัท นอกจากนี้มีการประชุมผ่านทางไลน์กลุ่มดังกล่าวด้วย โดยจำเลยเป็นผู้อธิบายรายละเอียดการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท รายได้ของบริษัท และแนะนำวิธีการชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุนกับบริษัท จำเลยจะเน้นย้ำการชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุน ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 76,350 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสวแล้วนายไสวแจ้งว่า โอนเงินลงทุนของโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยแล้ว โจทก์ร่วมตรวจข้อมูลการลงทุนของเงิน 76,350 บาท ได้มีการแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทกำหนด ส่วนเงินลงทุนของโจทก์ร่วมในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 จำนวน 37,000 บาท โจทก์ร่วมได้ผลตอบแทนของเงินลงทุน 70 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,350 บาท วันที่ 20 สิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 37,000 บาท และวันที่ 12 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 74,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสว และในวันที่ 12 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมก็ได้รับผลตอบแทน 140 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 4,500 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปแลกเป็นเงินไทยกับนายไสวได้เงิน 4,500 บาท วันที่ 17 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 18,500 บาท เข้าบัญชีของนายไสวอีก และในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมจะโอนเงินลงทุนไปให้นายไสว แต่นายไสวแนะนำให้โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์ร่วมติดต่อจำเลย แล้วจำเลยส่งเลขที่บัญชีธนาคาร ก. ของจำเลยมาให้โจทก์ร่วมทางไลน์กลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมเริ่มโอนเงินลงทุน 74,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยและได้สนทนากันผ่านข้อความทางไลน์กลุ่ม จำเลยได้แนะนำวิธีการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนให้แก่โจทก์ร่วม จากนั้นโจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยอีกรวม 51 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,023,352 บาท โดยได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเพียง 312,061 บาท แล้วไม่ได้รับผลตอบแทนของเงินลงทุนอีกเลย หลักฐานที่โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนจากบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีธนาคารของนายไสวกับจำเลยตามรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของธนาคาร ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2561 โจทก์ร่วมสอบถามจำเลยถึงผลตอบแทนของเงินลงทุนได้รับแจ้งว่า บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายผลตอบแทนจาก 24 เดือน เหลือ 15 เดือน และเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเหรียญดิจิทัลแทนให้โจทก์รอไปก่อน ประมาณกลางเดือนกันยายน 2561 จำเลยนัดโจทก์ร่วมไปพบที่กรุงเทพมหานคร จำเลยบอกโจทก์ร่วมให้รอเพราะต่อไปเหรียญดิจิทัลจะมูลค่าสูงและผลตอบแทนจะได้มากขึ้น โจทก์ร่วมรอจนกระทั่งถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่ได้ผลตอบแทนของเงินลงทุนจากบริษัท ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โจทก์ร่วมจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกับนายไสว ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ต่อมาโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีแก่นายไสว และมีนายไสวเป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้จักกับนายทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้างาน นายทนงศักดิ์ ชักชวนพยานให้ร่วมลงทุนกับบริษัท อ. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 พยานโอนเงิน 37,000 บาท เข้าบัญชีของนายทนงศักดิ์เพื่อที่จะลงทุนกับบริษัท นายทนงศักดิ์นำพยานเข้ากลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ชื่อกลุ่มซัคเซส มีจำเลยเป็นผู้ดูแลกลุ่ม โดยจำเลยจะส่งข้อมูลการลงทุนของบริษัท ผลตอบแทนที่บริษัทจะมอบให้กับผู้ลงทุนให้กับสมาชิกในกลุ่มไลน์ทราบเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลเช่นเดียวกับที่นายทนงศักดิ์แนะนำให้กับพยาน ต่อมานายทนงศักดิ์ชักชวนพยานไปสัมมนาการลงทุนกับบริษัทที่กรุงเทพมหานคร พยานพบกับจำเลย ซึ่งจำเลยชักชวนพยานให้ร่วมลงทุนกับบริษัท อ. โดยให้พยานนำบัตรประชาชนของญาติพี่น้องของพยานมาลงทุนกับบริษัท อ. ด้วย พยานจะได้รับค่าคอมมิชชั่นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่มีการลงทุน จำเลยเป็นแม่ทีมเป็นผู้ดูแลสมาชิกในกลุ่มที่มีการลงทุน วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 พยานเขียนข้อความผ่านไลน์เข้าไปทักทายโจทก์ร่วมโดยชักชวนโจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัท โจทก์ร่วมสนใจและโอนเข้าบัญชีของพยานเพื่อลงทุนเป็นเงิน 37,000 บาท พยานโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลย ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 จำเลยโอนเงิน 2,380 บาท เข้าบัญชีของพยานเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการที่พยานแนะนำโจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัท วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 75,850 บาท เข้าบัญชีของพยาน วันที่ 20 สิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 37,000 บาท วันที่ 12 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 74,000 บาท วันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 18,500 บาท โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนกับบริษัท อ. ผ่านพยานรวม 5 ครั้ง ซึ่งพยานโอนเงินของโจทก์ร่วมที่จะลงทุนเข้าบัญชีของจำเลย กับมีร้อยตำรวจเอกอำนาจ และพันตำรวจโทสิทธิพงษ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยาน โดยร้อยตำรวจเอกอำนาจเบิกความว่า เป็นผู้ทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสอบของผู้เสียหายในฐานะผู้กล่าวหาและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายไสวในฐานะพยาน ส่วนพันตำรวจโทสิทธิพงษ์เบิกความว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย ไม่พบชื่อบริษัท อ. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเมื่อตรวจสอบรายการเดินบัญชีธนาคารของผู้เสียหายกับจำเลยแล้วพบมีรายการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารของจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยรู้จักโจทก์ร่วมเนื่องจากนายไสวเป็นผู้แนะนำให้โจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัทและเชิญโจทก์ร่วมเข้ากลุ่มซัคเซสด้วย ในกลุ่มซัคเซสจะมีการส่งข้อมูลของบริษัท ในการลงทุนกับบริษัท ผู้ลงทุนสามารถลงทุนกับบริษัทโดยตรงหรือจะลงทุนผ่านผู้แนะนำแล้วแต่จะเลือก แต่ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนมักจะลงทุนโดยโอนเงินผ่านผู้แนะนำ ซึ่งในกรณีของโจทก์ร่วม นายไสวเป็นผู้แนะนำให้โจทก์ร่วมเข้าลงทุน โจทก์ร่วมจะโอนเงินให้นายไสวเพื่อลงทุนกับบริษัท ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2560 นายไสวแจ้งว่า โจทก์ร่วมจะโอนเงินให้นายไสวเพื่อลงทุนกับบริษัท โดยจะโอนเงินลงทุนให้จำเลย หลังจากโจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยก็นำเงินที่โจทก์ร่วมลงโจทก์ร่วมลงทุนในนามของบุคคลที่โจทก์ร่วมใช้ชื่อในการลงทุนแทนไปลงทุนแทนให้ตามที่โจทก์ร่วมแจ้ง โจทก์ร่วมเริ่มลงทุนผ่านจำเลย โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมารวมทั้งหมด 51 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 จำเลยถอนเงินจากธนาคาร ก. 400,000 บาท เพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัท จำเลยจึงมีนำหน่วยลงทุนในขณะนั้น 49 lot ต่อมาเมื่อวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเป็นเงิน 74,000 บาท และ 37,000 บาท เพื่อซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัท จำเลยจึงนำหน่วยลงทุนที่จำเลยซื้อมาก่อนโอนเข้าระบบของโจทก์ร่วม เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากโจทก์ร่วมและนายไสวต่างเบิกความถึงเหตุการณ์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังเจือสมกับทางนำสืบของจำเลย ฟังได้ว่า โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยเพื่อลงทุนกับบริษัท อ. การที่จำเลยส่งแพ็กเกจการลงทุน กิจการต่าง ๆ ที่บริษัทนำเงินผู้ลงทุนไปลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากบริษัท บอกวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนในไลน์กลุ่ม โดยมีเว็บไซต์ประกอบ ฟังได้ว่า จำเลยแสดงเนื้อหาและข้อมูลต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงได้ และข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโทสิทธิพงษ์ว่า พยานตรวจสอบการมีอยู่บริษัทบริษัท อ. กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัยพบว่าไม่มีชื่อในนิติบุคคลจดทะเบียนไว้ โดยจำเลยตอบคำถามค้านโจทก์ว่าบริษัท อ. จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่นั้น จำเลยไม่ทราบ แสดงว่า บริษัท อ. อาจจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ก็ได้ การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จำเลยต้องแจ้งในกลุ่มไลน์ด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน การที่จำเลยไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้ที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและคำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวว่าเป็นบุคคลใด มีลักษณะเป็นการแสดงต่อประชาชนทั่วไป มิได้เจาะจงคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษโดยเฉพาะ และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้น ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยจะซื้อหน่วยลงทุนผ่านนายทินภัทร และจำเลยสนทนาการซื้อขายหน่วยลงทุนกับนายทินภัทรผ่านไลน์ จำเลยนำเงินที่ได้รับจากโจทก์ร่วมรวมกับเงินของจำเลยเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของบริษัทเข้าบัญชีของนายบัณฑิตและนายทินภัทร จำเลยพูดคุยกับนายทินภัทรผ่านไลน์ว่าโอนเงินต่อให้นางสาววริญญรัศมิ์ และจำเลยก็โอนเงินลงทุนกับบริษัท อ. โดยซื้อหน่วยลงทุนจากนายทินภัทร น่าจะเป็นแผนการหลอกลวงโจทก์ร่วมและประชาชนให้หลงเชื่อนำเงินมาลงทุนตามเจตนาของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนชักชวนโจทก์ร่วม จำเลยไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัทจึงไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ร่วม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ไม่ระบุมาตรา 83 ไว้ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิได้กระทำความผิดโดยลำพัง
ปัญหาต่อไปต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่โจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าการกระทำของจำเลยทำให้ตนเองได้รับความรับเสียหายเป็นเงิน 600,500 บาท ตามบันทึกคำให้การ ซึ่งสอดคล้องกับบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย แต่โจทก์กลับกล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย และเรียกร้องค่าเสียเพิ่มเติมเข้ามาเป็นจำนวน 3,023,352 บาท โดยพนักงานสอบสวนมิได้สอบสวนความผิดในจำนวนเงินความเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นดังกล่าวทั้งมิได้แจ้งให้จำเลยทราบจึงถือว่าจำนวนเงินค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนี้ยังมิได้มีการสอบสวนดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ มาตรา 134 นั้น เห็นว่า การที่โจกท์ร่วมเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ โจทก์ร่วมได้แจ้งลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลง และความเสียหายที่ได้รับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลในเบื้องต้นให้เห็นว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นและโจทก์ร่วมมีความเสียหายเพื่อทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนส่วนของพนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานทุกชนิด โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นหลักฐานที่พนักงานสอบสวนสืบหามาได้เอง หรือที่โจทก์ร่วมหรือผู้ต้องหายื่นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยาน หรือที่บุคคลภายนอกส่งมาให้ โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีเพื่อที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดรวมทั้งความเสียหายที่แท้จริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 แสดงว่าหลักฐานมีได้ต้องมาจากโจทก์ร่วมเพียงฝ่ายเดียว เมื่อได้ความว่า พันตำรวจโทสิทธิพงษ์พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ตรวจสอบรายการเดินบัญชีธนาคารของผู้เสียหายกับจำเลยแล้วพบมีรายการโอนเงินบัญชีผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อลงทุนกับบริษัทเป็นเงิน 3,023,352 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนสืบหาตามอำนาจหน้าที่ ทั้งฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าขั้นตอนการสอบสวนในส่วนนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6