โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 91พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 11, 12, 13 ตรี, 13 จัตวา(3), 36, 37, 38 ตรี, 44 และให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และมีความผิดฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดา ผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษพ.ศ. 2510 มาตรา 11, 12, 13 ตรี, 13 จัตวา, 36, 38 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำคุก 3 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้ารวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน ของกลางทั้งหมดให้ริบเว้นแต่พัดลมไม่ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่าการกระทำตามฟ้องของโจทก์ในข้อ ข. ข้อ ค. และข้อ ง. เป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข. นั้น เป็นการผลิตยากำจัดวัชพืช มีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปน เพื่อการค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 11, 36 ส่วนตามฟ้องข้อ ค. นั้นเป็นการผลิตยาฆ่าปู มีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 12, 37 เห็นได้ว่าการกระทำความผิดในฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.นั้น เป็นการผลิตวัตถุมีพิษต่างชนิดกัน คือเป็นวัตถุมีพิษธรรมดากับวัตถุมีพิษร้ายแรง กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ความผิด 2 ฐานนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันแต่สำหรับความผิดในฟ้องข้อ ง. นั้น เป็นความผิดที่จำเลยได้ผลิตวัตถุมีพิษในฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. ปลอม เพื่อการค้า ซึ่งจำเลยมิได้รับอนุญาต โดยแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่ความจริง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรีดังนั้น การที่จำเลยผลิตยากำจัดวัชพืชมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาดังกล่าวปลอมโดยได้แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่เป็นความจริงนั้น เป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยผลิตยาฆ่าปูมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงดังกล่าวปลอมโดยได้แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่เป็นความจริงนั้นเป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 ดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยมาเพียงกระทงเดียวในความผิดสองฐานนี้และโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงมิอาจกำหนดโทษของจำเลยตามบทกฎหมายนี้ให้หนักไปกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษพ.ศ. 2510 มาตรา 11, 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 36, 38 ตรีประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กระทงหนึ่ง และมาตรา 12,13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 37, 38 ตรี ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 อีกกระทงหนึ่งรวม 2 กระทง ให้ลงโทษจำเลยเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงปลอมเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี จำคุก 3 ปี และฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาปลอมเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามบทมาตราดังกล่าว จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 และคงจำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 3 ปี 5 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์".