คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 584-587/2531 และ 589/2531 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1โจทก์ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดลำพูน เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายป่าไม้ จำเลยได้จับกุมโจทก์ที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์ปิกอัพบรรทุกเครื่องใช้โต๊ะไม้สัก 1 ตัว และจับกุมโจทก์ที่ 6ซึ่งขับรถยนต์ปิกอัพบรรทุกเครื่องใช้โต๊ะไม้สัก 1 ตัว โดยตั้งข้อหาโจทก์ทั้งสองว่ากระทำผิดฐานค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาต และยึดรถยนต์พร้อมเครื่องใช้ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองแจ้งแก่จำเลยในทันทีว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิดกฎหมายเพราะเครื่องใช้มีจำนวนเพียงตัวเดียวจะเอาไปให้ญาติใช้สอย แม้จะเพื่อการค้าก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่จำเลยก็ยังยืนยันจับโจทก์ทั้งสองส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องถูกคุมขังและถูกยึดรถยนต์เครื่องใช้ดังกล่าวไว้อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง โจทก์ทั้งสองได้รับรถยนต์และเครื่องใช้ดังกล่าวคืน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 65,400 บาทให้โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 98,064 บาท ให้โจทก์ที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีอำนาจและหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ จำเลยได้จับกุมโจทก์ทั้งหมดพร้อมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้สักและรถยนต์บรรทุกตามฟ้องเป็นการกระทำไปโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหมดให้ได้รับความเสียหาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 ฐาน "ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาต" จึงไม่เป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน โจทก์ที่ 1และที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ที่ 1 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยรับราชการสังกัดกรมป่าไม้ ตำแหน่งผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดลำพูน มีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป่าไม้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 คณะอนุกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ประจำจังหวัดลำพูนได้ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการนำสิ่งประดิษฐ์ผ่านด่านตรวจออกไปนอกเขตอุทยานแห่งชาติจากการบันทึกตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงพบว่ามีการนำสิ่งประดิษฐ์จากไม้สักที่หมู่บ้านตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนผ่านด่านตรวจอุทยานแม่ปิงโดยบรรทุกรถออกเป็นประจำครั้งละ 1 ชิ้นบางวันแต่ละคนบรรทุก 2-3 เที่ยว ซึ่งจะส่อไปในลักษณะเพื่อการค้ามากกว่าการนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้สอยส่วนตัว ที่ประชุมจึงมีมติให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสิ่งประดิษฐ์ผ่านด่านอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีลักษณะผิดปกติและเข้าลักษณะอำพราง โดยให้ทำการจับกุมผู้นำสิ่งประดิษฐ์ผ่านด่านอุทยานแห่งชาติแม่ปิงหรือนำมาจากที่อื่นได้ ครั้นวันที่ 27 สิงหาคม 2530 จำเลยพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจอุทยานแห่งชาติแม่ปิงได้ตรวจพบว่าโจทก์ทั้งสองได้ขับรถบรรทุกผ่านด่าน ในรถบรรทุกมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักคันละ 1 ชิ้น ก่อนที่จะจับกุมโจทก์ทั้งสองได้ใช้รถบรรทุกสิ่งประดิษฐ์ด้วยไม้สักผ่านด่านครั้งละ 1 ชิ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1-26 สิงหาคม2530 โจทก์ที่ 1 ผ่านด่าน ในรถบรรทุกมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักคันละ 1 ชิ้น ก่อนที่จะจับกุมทั้งสองพร้อมกับยึดรถที่โจทก์ทั้งสองขับและสิ่งประดิษฐ์ด้วยไม้สักนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ตั้งข้อหาฐานค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสอง ระหว่างการสอบสวนโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ 6 วัน และรถถูกยึดอยู่118 วัน จึงได้รับคืน
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองมีว่า การที่จำเลยจับกุมโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติในขณะที่จับโจทก์ทั้งสอง โจทก์แต่ละคนมีสิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้สักไว้ในครอบครองคนละ 1 ชิ้น โจทก์ทั้งสองอ้างว่าไม่ผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ เพราะมีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ผู้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามเกินกว่า 1 หน่วย จึงต้องขออนุญาต การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ผิดกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจจับกุมโจทก์ทั้งสอง เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้นำสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักผ่านด่านอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน โดยนำผ่านด่านเพียงครั้งละ 1 ชิ้น กรณีเช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสองโดยชัดแจ้งว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย การที่โจทก์ทั้งสองได้กระทำมาเป็นเวลานานและโดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม2530 ได้มีการนำสิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้สักผ่านด่านเฉพาะโจทก์ที่ 1จำนวน 25 เที่ยว โจทก์ที่ 6 จำนวน 20 เที่ยว เมื่อนำพฤติการณ์ดังกล่าวมาประกอบกับการกระทำของโจทก์ทั้งสองในวันที่ถูกจับเป็นเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองน่าจะเป็นผู้ค้าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยได้จับกุมโจทก์ทั้งสองในการขับรถผ่านด่านในวันเกิดเหตุ แม้จะมีของประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักเพียง 1 ชิ้น แต่พฤติการณ์ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาจนถึงวันถูกจับกุม เป็นเหตุผลอันสมควรที่ชี้ให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองน่าจะมีการกระทำอันผิดกฎหมาย การที่จำเลยจับโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุผลจากพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองเอง จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่จงใจแกล้งจับโจทก์ทั้งสองหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการละเมิด ถ้าหากจำเลยไม่มีอำนาจในการจับกุมโจทก์ทั้งสองหรือการกระทำของโจทก์ทั้งสองประกอบด้วยพฤติการณ์ก่อนการจับกุมแสดงให้เห็นว่าไม่ผิดกฎหมายเลย เมื่อจำเลยได้กระทำการจับกุมโจทก์ทั้งสอง อาจจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างไว้ในฎีกา แต่คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวรูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว"
พิพากษายืน