โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317 นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ยชอ 1/2564 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ว. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 3 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา โดยนับระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยคดีนี้ต่อจากระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ยชอ 1/2564 หมายเลขแดงที่ ยชอ 75/2564 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วม ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำร้องของโจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น จำคุก 4 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น คงจำคุก 2 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้จำเลยฟัง โดยให้นับระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยคดีนี้ต่อจากระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ยชอ 1/2564 หมายเลขแดงที่ ยชอ 75/2564 ของศาลชั้นต้น และในคดีส่วนแพ่งในส่วนอัตราดอกเบี้ย ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ร. ผู้เสียหายที่ 1 เกิดวันที่ 19 มิถุนายน 2559 เป็นบุตรของโจทก์ร่วมและนาย ศ. ขณะเกิดเหตุอายุ 4 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมเพียง 2 คน ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่กับนาง ส. ยายจำเลย บ้านของนาง ส. อยู่ติดกับบ้านของโจทก์ร่วม มีถนนกว้างประมาณ 4 เมตร คั่นอยู่ เปิดเป็นร้านขายของชำ มีคนพักอาศัย 4 คน คือ นาง ส. จำเลย เด็กหญิง ห. อายุประมาณ 6 ปี และนาย ม. บิดาเด็กหญิง ห. สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คู่ความไม่ฎีกา คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ยังรับฟังไม่ได้ว่าไม้ที่จำเลยแหย่ไปที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้ล่วงล้ำเข้าไปภายในหรือไม่ และถูกตรงอวัยวะส่วนใด พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิด เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนด 2 ปี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เฉพาะวรรคความผิดในมาตราเดียวกันซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันซึ่งเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลล่างทั้งสองต่างเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมิใช่การลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 การที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ยังรับฟังไม่ได้ว่าไม้ที่จำเลยแหย่ไปที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้ล่วงล้ำเข้าไปภายในหรือไม่ และถูกตรงอวัยวะส่วนใด พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยส่วนนี้ไว้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายเพียงว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อทางพิจารณาของศาลฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติไว้ว่าถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหา และสอบสวนจำเลยในความผิดดังกล่าว เป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีมาฟ้องในข้อหานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เท่านั้น อันเป็นขั้นตอนของการยื่นฟ้องคดี มิใช่การพิพากษาคดีของศาล ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดนั้นได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน