โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 61, 73/2, 75 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 71, 92, 93, 148, 151 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73/2 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 วรรคหนึ่ง, 93 วรรคหนึ่ง, 148, 151 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คงจำคุก 2 เดือน ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเป็นผู้ขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 3 เดือน ฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี คงปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 5 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษได้ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ปรับ 6,000 บาท ฐานปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คงปรับ 3,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับ 10,000 บาท รวม 3 กระทงเป็นปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลสามารถนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติการกระทำความผิดที่ปรากฏในรายงานเจ้าหน้าที่ศาลมารับฟังประกอบในการลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20 โดยไม่ได้บรรยายฟ้องหรือกล่าวอ้างว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบประวัติการการกระทำความผิดของจำเลย และจากการตรวจสอบพบว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุก 1 ปี ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาก่อน และศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับมาในอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานเจ้าหน้าที่ศาลดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงในสำนวนคดีที่ศาลสามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับฟังรายงานเจ้าหน้าที่ศาลที่ระบุข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และพิพากษารอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น