โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,727,681 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบทบต้นของต้นเงิน 6,332,177 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินกู้ไปจากโจทก์ 1,800,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 มีข้อตกลงว่า หากจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวทบเข้าเป็นต้นเงิน และให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินใหม่โดยคิดทบไปทุกปีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ต่อมาจำเลยผิดนัด โดยชำระเงินให้โจทก์เพียง 170,000 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 จำเลยค้างชำระต้นเงิน 1,800,000 บาท และมีดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 เป็นเงิน 270,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ" เมื่อตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า "หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้โดยจะคิดทบไปทุกปี จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา" จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จำเลยค้างชำระต้นเงินอยู่ 1,800,000 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 1 ปี ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 อีก 270,000 บาท เมื่อทบต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 2,070,000 บาท จำเลยต้องชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ