โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งในส่วนของอุทธรณ์คำพิพากษาและอุทธรณ์คำสั่ง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2566 ขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182, 188, 190 และมาตรา 192 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3, 4, 5, 25, 26, 27, 29 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ และมาตรา 188
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับในส่วนคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้ แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นยังคงเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม หาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในทุกกรณีไป คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182, 188, 190 และมาตรา 192 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3, 4, 5, 25, 26, 27, 29 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ และมาตรา 188 แต่กลับไม่ปรากฏเหตุผลแห่งการโต้แย้งในคำร้องขอของจำเลยว่า บรรดาบทมาตราต่าง ๆ แห่งกฎหมายที่อ้างว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างไร มีการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในมาตราใด หรือขัดต่อหลักความเสมอภาคในพฤติการณ์ใด โดยเฉพาะละเมิดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาประการใดบ้าง กรณีตามคำร้องของจำเลยจึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตรวจอ่านคำร้องของจำเลยต่อไปโดยละเอียดแล้ว เห็นได้ชัดว่าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ทั้งในเรื่องการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมาย การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการตีความกฎหมายอันจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยเท่านั้นแทบทั้งสิ้น หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทมาตราแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ซึ่งในเรื่องเหล่านี้จำเลยก็ได้ใช้สิทธิในการฎีกาไว้แล้ว แต่กลับประสงค์จะให้ศาลฎีกาส่งเรื่องที่อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยแทน ซึ่งเมื่อเรื่องเหล่านั้นมิใช่เป็นเรื่องบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเสียแล้ว กรณีย่อมไม่อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยที่เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากที่ฎีกาเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาให้ครบองค์คณะนั้น ก็มิใช่เรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน เช่นนี้ คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 212 ที่ศาลฎีกาจะต้องส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วรอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราว จึงเห็นสมควรให้ยกคำร้องของจำเลยเสีย
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 54043, 7629 และ 7634 ซึ่งมีบ้านพักอาศัยและโรงกลึง ท. ของโจทก์และภริยาปลูกสร้างอยู่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1136/2557 หมายเลขแดงที่ พ.980/2558 ของศาลแพ่งธนบุรี มีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทภายในที่ดินโฉนดเลขที่ 17753 ของจำเลยกับพวก ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ทั้งนี้โดยมีขอบเขตจำกัดการใช้ทางพิพาทดังกล่าวโดยอนุญาตให้ใช้แต่เฉพาะเพียงการเดินเท้า การใช้รถเก๋งสี่ล้อและรถกระบะสี่ล้อเพื่อป้องกันพื้นดินทรุดและกำแพงบ้านจำเลยแตกร้าวจากการใช้รถบรรทุกสิ่งของในกิจการโรงกลึงของโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2562 นายชรินทร์ ลูกจ้างของบริษัททีเอสเอฟ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาของการประปานครหลวงตามสัญญาจ้างงานปรับปรุงถอดเปลี่ยนมาตรวัดน้ำ ครบวาระในเขตพื้นที่สำนักงานประปาตากสิน กับพวกได้ใช้รถกระบะบรรทุกสัมภาระสิ่งของเป็นยานพาหนะแล่นผ่านถนนภาระจำยอมพิพาทดังกล่าวแล้วเลี้ยวซ้ายไปจอดอยู่บริเวณหน้าโรงกลึง ท. ของโจทก์เพื่อเข้าไปถอดเปลี่ยนมาตรวัดน้ำที่บ้านภริยาของโจทก์เลขที่ 11/128 วันที่ 14 มิถุนายน 2562 นางสาวสมหมาย จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.980/2558 ของศาลแพ่งธนบุรี ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาที่กระทำต่อศาลแพ่งธนบุรีว่าจะไม่นำรถทุกชนิดนอกจากที่ศาลฎีกาอนุญาตแล่นผ่านทางภาระจำยอมพิพาท หากผิดสัญญายอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ครั้งละ 20,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 โจทก์ยินยอมให้ผู้อื่นขับรถกระบะบรรทุกสิ่งของเต็มคันผ่านทางภาระจำยอมพิพาท ขอให้เรียกโจทก์มาไต่สวน และในวันนัดไต่สวนของศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 จำเลยเข้าเบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว โดยจำเลยยืนยันว่านายชรินทร์บอกแก่จำเลยว่าโจทก์เป็นผู้อนุญาตให้นายชรินทร์ขับรถผ่านทางภาระจำยอมพิพาทเพื่อเข้าไปติดตั้งมาตรวัดน้ำ ศาลแพ่งธนบุรีไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งคดีมีมูลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 182 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า ในวรรคสองและวรรคสามของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดให้ศาลจะต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้ที่เป็นคู่ความในคดี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (15) กำหนดนิยามคำว่า "คู่ความ" ไว้ว่าหมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม บัญญัติให้อำนาจศาลในการไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้และจะตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์หรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น กรณีจึงส่งผลให้จำเลยยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งประทับฟ้องเสียก่อน ฉะนั้น สาระสำคัญของกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เป็นหลัก จำเลยเพียงมีสิทธิเข้ามาในคดีได้อย่างจำกัดตามที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อศาลชั้นต้นเสร็จการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งจึงไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ หรือหากจำเลยทราบนัดแล้วจะมาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ได้เนื่องจากยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความ กรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 ซึ่งใช้บังคับแต่เฉพาะผู้ที่เป็นคู่ความแล้วเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะอ่านคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยได้ และในขณะเดียวกันหากจำเลยทราบนัดฟังคำสั่งแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นก็หาอาจใช้อำนาจตามวรรคสามของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 ในการออกหมายจับจำเลยได้เช่นกัน การอ่านคำสั่งคดีมีมูลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ของศาลชั้นต้นลับหลังจำเลยจึงชอบแล้ว มิได้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาในส่วนย่อฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายถึงข้อความเท็จอันจำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลแพ่งธนบุรีแยกส่วนกับความจริงในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ไว้คนละย่อหน้ากันก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นย่อฟ้องโดยนำข้อความทั้งสองส่วนมาอยู่ในย่อหน้าเดียวกันก็หามีผลทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแต่อย่างใด เพราะยังคงเป็นการกล่าวหาจำเลยว่ามีเจตนาเบิกความเท็จและข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นความจริงมีอยู่อย่างไร เช่นเดียวกับในส่วนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ยกคำพยานปากตัวโจทก์ขึ้นกล่าวประกอบกับข้อความเท็จตามที่จำเลยได้เบิกความไว้ในชั้นไต่สวนในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.980/2558 ของศาลแพ่งธนบุรี จากนั้นตามด้วยข้อความจริงที่โจทก์ยืนยันว่ามิได้เป็นผู้สั่งการให้มีการขับรถกระบะบรรทุกสิ่งของผ่านเข้าไปบนทางภาระจำยอมพิพาท ก็เห็นได้ว่ามิได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดใด ๆ ว่าข้อเท็จจริงส่วนไหนเป็นส่วนที่จำเลยได้เบิกความไว้ในการไต่สวนของศาลชั้นต้น และส่วนไหนเป็นข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์เอง อันจะทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้จนเกิดผลเสียร้ายแรงแก่จำเลยดังที่ฎีกาโต้แย้ง การย่อฟ้องศาลชั้นต้นและการกล่าวอ้างถึงคำเบิกความของพยานในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องยืนยันว่านายชรินทร์ใช้แอปพลิเคชันระบบนำทางจีไอเอสในโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถตรวจสอบตำแหน่งมาตรวัดน้ำเพื่อเข้าเปลี่ยนมาตรวัดน้ำโดยขับรถผ่านทางภาระจำยอมพิพาทโดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย แต่ในชั้นพิจารณามีการนำสืบว่าระบบนำทางจีไอเอสดังกล่าวเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันแผนที่กูเกิ้ลแมพซึ่งมีระบบจีพีเอสทำให้สามารถตรวจสอบเส้นทางที่ใกล้ที่สุดในการเข้าถึงมาตรวัดน้ำด้วยก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่เป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด วันเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของในอันที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติบังคับไว้ให้โจทก์ต้องบรรยายไว้อย่างชัดเจนในคำฟ้อง หากข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นเพียงรายละเอียดประกอบข้อกล่าวหาของโจทก์ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาอยู่แล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ฉะนั้น การที่ในชั้นพิจารณา โจทก์นำสืบถึงระบบนำทางจีพีเอสและแผนที่ของแอปพลิเคชันกูเกิ้ลแมพที่มีความเชื่อมโยงการทำงานกับระบบตรวจหาตำแหน่งมาตรวัดน้ำจีไอเอสของการประปานครหลวงเพิ่มเติมขึ้นมาจากที่ได้บรรยายไว้ในฟ้อง จึงมิใช่เรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันทำให้จำเลยหลงต่อสู้ซึ่งจะต้องยกฟ้องตามวรรคสองของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแต่ประการใด นอกจากนั้น ตามข้อฎีกาของจำเลยว่าความจริงแล้วนายชรินทร์เบิกความว่าเข้าไปเปลี่ยนมาตรวัดน้ำที่บ้านภริยาโจทก์เพียงหลังเดียว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่นายชรินทร์เข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อเปลี่ยนมาตรวัดน้ำตามวาระในซอยที่เกิดเหตุรวม 5 หลัง มิใช่เข้าไปเปลี่ยนเฉพาะบ้านภริยาโจทก์หลังเดียวจึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในทางพิจารณานั้น ในข้อนี้นายชรินทร์เบิกความไว้อย่างชัดเจนว่านายชรินทร์ได้รับคำสั่งให้ไปดำเนินการเปลี่ยนมาตรวัดน้ำที่บ้านรวม 5 หลัง โดยตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่าก่อนที่จะไปเปลี่ยนมาตรวัดน้ำที่โรงงานของโจทก์ ได้ไปเปลี่ยนมาตรวัดน้ำบริเวณที่ทำเครื่องหมายดอกจันสีแดง 3 แห่ง มาก่อน ดังนี้ กรณีจึงมิใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่านายชรินทร์จะต้องใช้ระบบจีไอเอสในการตรวจหามาตรวัดน้ำ เนื่องจากตามสำเนาจ้างงานปรับปรุงถอดเปลี่ยนมาตรวัดน้ำครบวาระในเขตพื้นที่สำนักงานประปาตากสิน ไม่มีการระบุถึงระบบดังกล่าวไว้ในสัญญา ประกอบกับนายอาทร พนักงานของสำนักงานประปาตากสินพยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าไม่ทราบถึงเส้นทางที่ลูกจ้างบริษัท ทีเอสเอฟ อินเตอร์เทรด จำกัด ใช้ในการเข้าไปเปลี่ยนมาตรวัดน้ำตามวาระนั้น เห็นว่า การจะเข้าถึงบ้านเรือนของประชาชนเพื่อเปลี่ยนมาตรวัดน้ำตามวาระตามที่บริษัททีเอสเอฟ อินเตอร์เทรด จำกัด รับจ้างเหมาจากการประปานครหลวงตามสัญญาดังกล่าวว่าจะต้องใช้วิธีการใด เป็นเพียงรายละเอียดและวิธีปฏิบัติไม่ถือเป็นข้อสาระสำคัญที่จะต้องมีการระบุไว้ในสัญญา ฉะนั้น เมื่อนายอาทรและนายชรินทร์ต่างเบิกความสอดคล้องกันยืนยันว่าในการตรวจหาตำแหน่งมาตรวัดน้ำของบ้านเรือนของประชาชนซึ่งจะต้องเปลี่ยนตามวาระจะใช้ระบบจีไอเอสซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของการประปานครหลวงเชื่อมโยงกับระบบนำทางและแผนที่ของแอปพลิเคชันกูเกิ้ลแมพเพื่อทราบตำแหน่งมาตรวัดน้ำและเส้นทางในการเข้าถึงจึงมีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟังเป็นความจริงแล้ว ดังเห็นได้จากในใบสั่งดำเนินการมาตรวัดน้ำ การประปานครหลวง มีระบุเพียงบ้านเลขที่อันเป็นที่ตั้งมาตรวัดน้ำเท่านั้น แม้มีการระบุชื่อผู้ใช้น้ำไว้ด้วย ก็ได้ความว่าอาจไม่เป็นปัจจุบันโดยความจริงมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้น้ำไปแล้วแต่ยังไม่ได้แก้ไขในฐานข้อมูล ประการสำคัญไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้น้ำระบุไว้ เช่นนี้ หากไม่ใช้ระบบจีไอเอสดังที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความยืนยัน ย่อมเป็นการยากที่นายชรินทร์จะหาตำแหน่งของมาตรวัดน้ำที่จะต้องเปลี่ยนได้พบ และเมื่อนายชรินทร์พยานโจทก์เบิกความยืนยันแล้วว่าเหตุที่พยานใช้ทางภาระจำยอมพิพาทไปยังบ้านภริยาโจทก์เพื่อเปลี่ยนมาตรวัดน้ำเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ตรวจสอบพบโดยระบบจีไอเอส มิใช่โจทก์เป็นผู้บอกให้พยานใช้เส้นทางนี้และพยานก็ไม่เคยพูดกับจำเลยว่าเหตุที่ใช้ทางภาระจำยอมพิพาทเป็นเพราะโจทก์บอกให้ใช้ได้ กรณีจึงเพียงพอที่จะยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยได้อยู่แล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่นำภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งติดอยู่ที่โรงงานของโจทก์มาเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยกับนายชรินทร์พูดคุยกันอย่างไรก็อาจเป็นเพราะตามปกติกล้องวงจรปิดโดยทั่วไปบันทึกไว้แต่ภาพอย่างเดียวมิได้บันทึกเสียงด้วยก็เป็นได้ กรณีจึงหามีผลทำให้พยานหลักฐานโจทก์ตกอยู่ในความสงสัยดังข้อฎีกาของจำเลยไม่ นอกจากนั้น แม้ศาลแพ่งธนบุรีจะมีคำสั่งในการไต่สวนพยานจำเลยตามคำร้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.980/2558 ให้ยกคำร้อง โดยไม่มีข้อความที่ระบุว่าคำเบิกความของนายชริทร์เป็นความจริง ส่วนคำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จก็ตาม ก็หาใช่เรื่องที่ว่าศาลแพ่งธนบุรีมิได้นำคำเบิกความของจำเลยมาวินิจฉัยให้มีผลเป็นการแพ้ชนะกัน เท่ากับว่าคำเบิกความของจำเลยมิใช่ข้อสำคัญแห่งคดีดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใด คำเบิกความของจำเลยจะเป็นความเท็จซึ่งมีความผิดอาญาหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในคดีอาญาคดีนี้ ศาลแพ่งธนบุรีในคดีส่วนแพ่งไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จหรือไม่ คงเพียงแต่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความเท่านั้นว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ส่วนคำเบิกความใดจะเป็นข้อสำคัญแห่งคดีในคดีแพ่งของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ ต้องพิจารณาจากประเด็นแห่งคดีที่มีการโต้เถียงกันนั้นเองว่าคำเบิกความที่เกี่ยวด้วยประเด็นเหล่านั้นนำไปสู่ผลแพ้ชนะคดีกันหรือไม่ เมื่อในคดีแพ่งเหตุแห่งคำร้องขออันนางสาวสมหมาย ขอให้ศาลแพ่งธนบุรีเรียกโจทก์มาไต่สวนสืบเนื่องจากการกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อกำหนดในการใช้ทางภาระจำยอมพิพาท โดยสั่งให้ผู้อื่นขับรถกระบะบรรทุกสัมภาระสิ่งของผ่านเข้าไปในทางดังกล่าวทั้งที่ได้ทำสัญญากับศาลแพ่งธนบุรีไว้แล้วจะไม่ฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นโดยจะยอมชำระค่าเสียหายเป็นเงินครั้งละ 20,000 บาท ประเด็นข้อสำคัญในคดีแพ่งของศาลแพ่งธนบุรีจึงมีอยู่ว่า โจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อจำกัดการใช้ทางตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเป็นผู้สั่งให้นายชรินทร์ขับรถกระบะบรรทุกสิ่งของและสัมภาระผ่านทางภาระจำยอมพิพาทเพื่อเข้าไปยังที่ดินของโจทก์จริงหรือไม่ และเมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์คดีนี้รับฟังได้ว่านายชรินทร์ใช้ระบบนำทางจีไอเอสตรวจหาตำแหน่งมาตรวัดน้ำเพื่อเปลี่ยนตามวาระ โดยใช้ทางภาระจำยอมพิพาทซึ่งเป็นเส้นทางที่ระบบดังกล่าวระบุไว้และไม่เคยบอกแก่จำเลยว่าโจทก์เป็นผู้สั่งให้นายชรินทร์ใช้เส้นทางนี้ ฉะนั้น การที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีแพ่งว่า นายชรินทร์เป็นผู้บอกจำเลยว่าโจทก์สั่งให้นายชรินทร์ใช้เส้นทางที่เป็นทางภาระจำยอมพิพาท จึงเป็นการเบิกความเท็จเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดการใช้ทางตามคำพิพากษาศาลฎีกา อันเป็นประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีที่นางสาวสมหมายอาศัยเป็นมูลในการกล่าวหาโจทก์เพื่อให้ศาลแพ่งธนบุรีเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้ว จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานเบิกความเท็จดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เป็นคุณแก่จำเลยมากยิ่งขึ้นตามเงื่อนไขและวิธีการที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กำหนดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การแก้ไขคำพิพากษานั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 เท่านั้น แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จะกำหนดให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการรอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างได้ก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โดยใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยและกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นควรใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้เป็นคุณมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กำหนดไว้ จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ทบทวนการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการลงโทษจำเลยข้างต้นได้ มิใช่ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษา เพราะกรณีดังกล่าวหาใช่เรื่องของการเขียนถ้อยคำผิดหรือมีการพิมพ์ผิดในคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน