โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 72, 73, 101, 119, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางให้ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 72 (1), 101, 119 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขายยาแผนปัจจุบันหรือมีไว้เพื่อขาย (ที่ถูก ฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) จำคุก 3 ปี ฐานขายยาปลอมหรือมีไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอม (ที่ถูก ฐานมียาปลอมไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอม) ปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 4,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 2,666.66 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกสรายุทธ และสิบตำรวจเอกมาฮูเซ็น เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีร่วมกันจับกุมจำเลยขณะนั่งอยู่บนแคร่ข้างบ้านเลขที่ 4 ซึ่งเป็นบ้านพักของจำเลยพร้อมยึดยาแก้ไอยี่ห้อ อ. ปริมาตร 120 มิลลิลิตร 1 ขวด ที่วางอยู่บนแคร่ข้างตัวจำเลยเป็นของกลาง และยึดยาแก้ไอยี่ห้อ อ. ปริมาตร 120 มิลลิลิตร จำนวน 1,949 ขวด ใส่อยู่ในถุงพลาสติกสีดำ 39 ใบ ยาแก้ไอยี่ห้อ น. ปริมาตร 60 มิลลิลิตร จำนวน 4,050 ขวด ใส่อยู่ในถุงพลาสติกสีดำ 81 ใบ จากในบ้านร้าง ห่างจากบ้านพักของจำเลยประมาณ 800 ถึง 900 เมตร เป็นของกลาง จากนั้นนำตัวจำเลยพร้อมของกลางทั้งหมดส่งมอบให้ร้อยตำรวจเอกยงยุทธ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยะหริ่งดำเนินคดี ร้อยตำรวจเอกยงยุทธร่วมกับนายอริษฎ์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลยะริ่ง และนายอับดุลการิม สาธารณสุขอำเภอยะหริ่งสุ่มตัวอย่างของกลางยาแก้ไอยี่ห้อ อ. จำนวน 28 ขวด และยาแก้ไอยี่ห้อ น. จำนวน 84 ขวด ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ตรวจพิสูจน์ พบว่ายาแก้ไอยี่ห้อ อ. เป็นยาปลอม ส่วนยาแก้ไอยี่ห้อ น. เป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตราย จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานมียาปลอมไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการตรวจค้นจับกุมจำเลยสืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกสรายุทธสืบทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบค้าพืชกระท่อม น้ำต้มพืชกระท่อมและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันประเภทยาแก้ไอให้แก่วัยรุ่นในพื้นที่หมู่ที่ 3 และพื้นที่ใกล้เคียง ตามวันเวลาเกิดเหตุสายลับแจ้งต่อร้อยตำรวจเอกสรายุทธว่าจำเลยจะลักลอบจำหน่ายยาแก้ไอ ร้อยตำรวจเอกสรายุทธจึงเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการสืบทราบและได้รับการบอกเล่าจากสายลับโดยตรง แม้โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความเป็นพยานก็ไม่มีผลทำให้คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสรายุทธเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยรับฟังไม่ได้ เมื่อร้อยตำรวจเอกสรายุทธรับแจ้งจากสายลับแล้วได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หลังจากนั้นมีการวางแผนจับกุม โดยได้ความจากร้อยตำรวจเอกสรายุทธและสิบตำรวจเอกมาฮูเซ็นพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยตรงกันว่า เมื่อเดินทางไปยังบ้านพักของจำเลยเห็นจำเลยนั่งอยู่บนแคร่ข้างบ้านจึงแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้น จำเลยมีท่าทีตกใจ แต่ก็ยินยอมให้ตรวจค้น ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายที่ตัวจำเลย พบเพียงยาแก้ไอยี่ห้อ อ. ปริมาตร 120 มิลลิลิตร 1 ขวด วางอยู่บนแคร่ข้างตัวจำเลย จำเลยรับว่ายาแก้ไอดังกล่าวเป็นของจำเลย เมื่อสอบถามว่ามียาแก้ไออีกหรือไม่ จำเลยตอบว่ามีและพาไปยังบ้านร้างห่างจากบ้านพักของจำเลยประมาณ 800 ถึง 900 เมตร พบยาแก้ไอยี่ห้อ อ. ปริมาตร 120 มิลลิลิตร จำนวน 1,949 ขวด ใส่อยู่ในถุงพลาสติกสีดำ 39 ใบ และยาแก้ไอยี่ห้อ น. ปริมาตร 60 มิลลิลิตร จำนวน 4,050 ขวด ใส่อยู่ในถุงพลาสติกสีดำ 81 ใบ กองรวมกันอยู่ที่พื้นภายในบ้าน จึงยึดยาแก้ไอทั้งหมดเป็นของกลาง พยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกันในการตรวจค้นจับกุมจำเลยมาตั้งแต่ต้นและได้บันทึกภาพไว้เป็นพยานหลักฐานในขณะตรวจค้นจับกุม ประกอบกับจำเลยเบิกความรับว่า ยาแก้ไอยี่ห้อ อ. ปริมาตร 120 มิลลิลิตร 1 ขวด ที่เจ้าพนักงานตำรวจพบวางอยู่บนแคร่เป็นของจำเลย เมื่อยาแก้ไอดังกล่าวเป็นชนิดเดียวกับยาแก้ไอของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นพบในบ้านร้าง จึงสนับสนุนคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองให้มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับยาแก้ไอของกลางในบ้านร้างและเป็นคนพาพยานโจทก์ทั้งสองไปตรวจยึดจริง แม้จำเลยจะครอบครองยาแก้ไอของกลาง 1 ขวด แต่ยาแก้ไอของกลางในบ้านร้างกองมัดใส่ในถุงพลาสติกสีดำจำนวนมาก สภาพบ้านไม่ได้ใส่กุญแจ หน้าต่างเปิดแง้มได้จะเข้าไปเอายาแก้ไอของกลางออกมาตอนไหนก็ได้ ไม่มีคนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองยาแก้ไอของกลางในบ้านร้างโดยเจตนามีไว้เพื่อขาย เมื่อยาแก้ไอของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อขายเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตรายและยาปลอม และจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานมียาปลอมไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป แต่ความผิดฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานมียาปลอมไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมดังกล่าวล้วนเป็นจำนวนเดียวกัน และถูกยึดไว้เป็นของกลางในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 101 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 101 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 2 ปี และริบของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9