โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและจิตใจและชื่อเสียงกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เนื่องในการเตรียมการสมรสกับโจทก์รวมเป็นเงิน 2,999,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 742,199 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 522,299 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ประกอบกับจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาจึงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ ส่วนจำเลยประกอบอาชีพเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ชุมชนและครอบครัว จำเลยซื้อแหวนเพชรมอบให้แก่โจทก์หลังจากนั้นชักชวนโจทก์ไปจดทะเบียนสมรส ทั้งยังให้บิดามารดาของจำเลยไปสู่ขอและกำหนดวันแต่งงานกัน การหมั้นระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับหญิงอื่นอันเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงต่อโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น และต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ ตามรายการค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส รายการที่ 2 เป็นค่าชุดไทย 35,499 บาท รายการที่ 6 เป็นค่าช่างแต่งหน้าและตั๋วเครื่องบิน 25,000 บาท รายการที่ 8 เป็นค่าการ์ดแต่งงานพร้อมซอง 7,500 บาท รายการที่ 11 เป็นค่ารองเท้าเจ้าสาว 3 คู่ 55,800 บาท รายการที่ 12 เป็นค่าเข็มขัดเจ้าบ่าว 28,500 บาท และรายการที่ 15 เป็นค่ามัดจำค่าถ่ายภาพและออการ์ไนซ์ 70,000 บาท กับค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงให้แก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 522,299 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ในค่าใช้จ่าย รายการที่ 1 เป็นค่าชุดแต่งงาน 135,000 บาท รายการที่ 3 ค่าช่างภาพพร้อมถ่ายภาพพรีเวดดิ้งที่จังหวัดภูเก็ตและตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก 60,000 บาท รายการที่ 4 ค่าสถานที่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งบ้าน อ. 5,000 บาท รายการที่ 5 ค่าสถานที่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งร้าน K. เป็นเงิน 13,900 บาท และรายการที่ 10 ค่าชุดเจ้าสาวถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง 2 ชุด เป็นเงิน 16,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า รายการที่ 1 เป็นค่าชุดแต่งงาน 135,000 บาท เป็นการที่หญิงซื้อชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธี จึงเป็นการใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส ส่วนค่าใช้จ่ายในการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งตามรายการที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 10 เป็นค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 (2) หรือไม่ เห็นว่า ในอดีตค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสที่จะเรียกค่าทดแทนจากกันได้นั้น หมายถึง ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ชายหญิงต้องกระทำเพื่อเตรียมการที่ชายหญิงจะอยู่กินด้วยกันเป็นสามีภริยาโดยตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของคู่สมรส หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องนอนหรือเครื่องเรือนสำหรับเรือนหอ แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนไป รวมทั้งประเพณีแต่งงานของคนไทย อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยเทคโนโลยี การสื่อสารและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมการในพิธีสมรสมากกว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหรือการซื้อเครื่องนอนและเครื่องเรือน ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นของคู่บ่าวสาวในการเตรียมการสมรสจึงผันแปรเปลี่ยนไปตามประเพณีนิยม ซึ่งต้องพิจารณาความจำเป็นไปตามยุคสมัย ดังนั้น เมื่อพิธีสมรสในปัจจุบันมิได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่บ่าวสาวรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในงานพิธีสมรสจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาว สถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งคู่ ดังจะเห็นได้ว่า การเตรียมงานพิธีสมรสของชายหญิงที่จะแต่งงานกันในอดีตจะให้บิดามารดาหรือผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจัดเตรียมงานให้โดยเน้นความเรียบง่าย แต่ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวจะใช้บริการจัดเตรียมงานโดยติดต่อกับบริษัทที่ทำธุรกิจวางแผนจัดงานแต่งงาน (Wedding Planner) ที่ให้บริการคำปรึกษาและประสานงานเกี่ยวกับงานหมั้นและงานแต่งงาน ด้วยการแนะนำรูปแบบของงานให้เหมาะสมกับคู่บ่าวสาว และควบคุมให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งจะให้การบริการโดยดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายและภาพถ่ายของคู่บ่าวสาวตั้งแต่การถ่ายภาพก่อนวันแต่งงาน (ภาพพรีเวดดิ้ง) และวันหมั้นไปจนถึงพิธีสมรส ซึ่งกิจการในลักษณะนี้จะทำให้รูปแบบขายแพ็กเกจเหมาถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง ทางบริษัทที่ทำธุรกิจวางแผนจัดงานแต่งงานจะดูแลจัดหาช่างแต่งหน้า ช่างภาพรวมทั้งชุดในวันถ่ายภาพพรีเวดดิ้งและวันจัดงานทั้งในและนอกสถานที่ ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งกลายเป็นที่นิยมอย่างหนึ่งที่คู่รักแทบทุกคู่ต่างถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานเตรียมไว้ เพื่อนำภาพถ่ายไปใช้ทำการ์ดแต่งงาน หรือนำภาพถ่ายไปใช้ตกแต่งในการจัดงานวันหมั้นหรือวันทำพิธีสมรส ตลอดจนทำวิดีโอคู่บ่าวสาวนำเสนอในงานแต่งงาน และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกภายหลังวันงานแต่งงาน ดังนี้ ด้วยค่านิยม ทัศนคติ วัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความคิดอ่านของคนรุ่นใหม่ ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมิใช่สิ่งฟุ่มเฟือยแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสมรสที่จำเป็นสำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อให้งานพิธีสมรสเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 (2) เมื่อได้ความว่าในการเตรียมการสมรสโจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันตัดสินใจจัดเตรียมงานโดยกำหนดให้มีการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงานจึงเป็นความตั้งใจและสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่ประสงค์จะถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงาน มิใช่เกิดจากความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว การดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมการก่อนสมรสโดยสุจริต ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์และจำเลยต่างประกอบอาชีพแพทย์มีรายได้สูง ย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่ดี มีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป เมื่อคำนึงถึงสถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามฐานานุรูปและตามสมควร ประกอบกับเหตุที่ผิดสัญญาหมั้นเกิดจากความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ควรให้ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เมื่อโจทก์มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการชำระเงินตามรายการดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปจริงโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าค่าใช้จ่ายรายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 10 ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 (2) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าค่าใช้จ่ายตามรายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 10 ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าทดแทนซึ่งค่าใช้จ่าย รายการที่ 9 ค่าสูทเจ้าบ่าว 3 ชุด พร้อมรองเท้าถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง รายการที่ 13 ชุดสร้อยเพชรพร้อมต่างหูเพชร และรายการที่ 14 แหวนหมั้น ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์ตามรายการส่วนนี้ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์จึงไม่มีประเด็นค่าทดแทนในรายการดังกล่าวนี้ที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีก จึงเป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ตามรายการค่าใช้จ่าย เพียงบางรายการ ส่วนค่าทดแทนรายการที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าทดแทนตามรายการที่ศาลชั้นต้นกำหนด ประเด็นเรื่องค่าทดแทนรายการที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหยิบยกเกี่ยวกับค่าทดแทนรายการที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 ขึ้นวินิจฉัยอีก ทั้งที่มิได้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยและมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 180 ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นจากที่จำเลยอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 180 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 742,199 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเกี่ยวกับค่าทดแทนรายการที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ