ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ล. เลขที่บัญชี 601 – 3 – 07XXX - X ชื่อบัญชีบริษัท ก. (ผู้คัดค้านที่ 2) จำนวน 50,067,374.24 บาท เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อ. สาขาสำนักงานใหญ่ เลขที่บัญชี 001 – 0 – 16XXX - X ชื่อบัญชีบริษัท ก. (ผู้คัดค้านที่ 2) จำนวน 20,000,000 บาท เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาเดอะมอลล์บางแค เลขที่บัญชี 238 – 2 – 30XXX - X ชื่อบัญชีบริษัท ป. (ผู้คัดค้านที่ 1) จำนวน 30,000,000 บาท เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ล. เลขที่บัญชี 601 – 3 – 01539 – 300000XXXX ชื่อบัญชี M. PUBLIC COMPANY LIMITED (ผู้คัดค้านที่ 3) จำนวน 50,416,206.85 บาท บัญชีการลงทุนของลูกค้าเลขที่ 56XXX - X ชื่อ M. PUBLIC COMPANY LIMITED (ผู้คัดค้านที่ 3) ธนาคาร ท. ใบรับฝากเงินเลขที่ DEP F – 00 – 000300XXXX จำนวน 20,000,000 บาท บัญชีการลงทุนของลูกค้าเลขที่ 56XXX - X ชื่อ M. PUBLIC COMPANY LIMITED (ผู้คัดค้านที่ 3) ธนาคาร ท. ใบรับฝากเงินเลขที่ DEP F – 00 – 000301XXXX จำนวน 30,000,000 บาท และเงินฝากในบัญชีผู้ฝากเลขที่ 4XXXX ชื่อลูกค้าบริษัท ก. (ผู้คัดค้านที่ 2) ประเภทใบรับฝากเงิน มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน เลขที่ 02XXXX ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ครบกำหนดวันที่ 23 กันยายน 2559 ออกโดยบริษัท ง. เงินต้นจำนวน 40,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 141,150.68 บาท รวมเป็น 40,141,150.68 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่าขอให้ยกคำร้อง
ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้ขอคุ้มครองสิทธิ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เงินตามบัญชีทรัพย์ จำนวน 7 รายการ พร้อมด้วยดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ขอคุ้มครองสิทธิอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินในบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน ของผู้คัดค้านที่ 1 เลขที่บัญชี 238 – 2 – 30XXX - X จำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ค้างชำระต่อผู้ขอคุ้มครองสิทธิตามสัญญากู้เงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ตลอดจนหนี้อื่น ๆ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีต่อผู้ขอคุ้มครองสิทธิ ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติว่า โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสัญญาจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการ และส่วนสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ โดยกิจการร่วมค้า N ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 บริษัท ว. บริษัท ส. และบริษัท ก. ได้รับอนุมัติจัดจ้างให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับจ้างช่วง และกิจการร่วมค้า N ได้รับค่าจ้างก่อสร้างจากกรมควบคุมมลพิษไปบางส่วนแล้ว ในส่วนการจัดหาที่ดินของโครงการ พนักงานอัยการได้ฟ้องนายวัฒนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติชี้มูลกล่าวหาว่า นายวัฒนาเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินในโครงการนี้โดยมิชอบทับที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นที่หวงห้ามแล้วนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ โดยนายวัฒนาเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการในบริษัท ห. ได้กว้านซื้อที่ดินจากราษฎรตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการหลายแปลง เนื้อที่ประมาณ 1,900 ไร่ ต่อมาบริษัท ม. ซื้อที่ดินดังกล่าวจากบริษัท ห. ในราคา 88,000,000 บาท โดยไม่มีการชำระราคา และตีราคาที่ดินเป็นหุ้นบริษัท ม. ให้บริษัท น. ของนายวัฒนาถือไว้ ต่อมาบริษัท ม. และบริษัท ค. ได้นำที่ดินดังกล่าวไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 13150, 13817, 15024, 15528 และ 15565 ออกโดยไม่ชอบ และนายวัฒนามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 จำคุก 10 ปี อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 13150, 13817, 15024 และ 15528 ที่ออกโฉนดที่ดินทับคลองสาธารณะแล้ว กับพนักงานอัยการได้ฟ้องนายปกิต อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กองจัดการควบคุมคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน และทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้าง และไม่สามารถดำเนินโครงการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ค. สามารถเสนอขายที่ดินได้ และช่วยเหลือกิจการร่วมค้า N ให้ได้รับผลประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ เป็นช่องทางให้กิจการร่วมค้า N และบริษัท ค. ร่วมกันสร้างราคาที่ดินสูงถึง 1,956,600,000 บาท สูงกว่าราคาประเมิน 1,044,600,000 บาท กับยอมรับโอนที่ดินโดยตรง ทำให้กิจการร่วมค้า N ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน กับพิจารณาให้กิจการร่วมค้า N ผ่านคุณสมบัติโดยเอกสารไม่มีความชัดเจนว่าบริษัท ธ. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสียยังคงเป็นผู้ทำโครงการอยู่ ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ศาลอาญาวินิจฉัยว่า การดำเนินการแทบทุกขั้นตอนขัดต่อกฎหมาย ระเบียบราชการและมติคณะรัฐมนตรี และพิพากษาว่า นายปกิต นายศิริธัญญ์ และนางยุวรีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 20 ปี นายปกิต นายศิริธัญญ์ และนางยุวรียื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้เป็นโจทก์ฟ้องกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 นายวัฒนากับพวกรวม 19 คน เป็นคดีอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงต่อศาลแขวงดุสิต กล่าวหาว่าร่วมกันหลอกลวงนำที่ดินที่ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบดังกล่าวมาขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ กับหลอกลวงโดยปกปิดข้อเท็จจริงว่าบริษัท ธ. ร่วมเป็นคู่สัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ความจริงบริษัทดังกล่าวได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจและมิได้ร่วมเป็นคู่สัญญา และมิได้ร่วมทำงานกับกิจการร่วมค้า N แล้ว คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 และนายวัฒนากับพวก (ยกเว้นกิจการร่วมค้า N) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เดิม และพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนายวัฒนากับพวก (ยกเว้นกิจการร่วมค้า N) แล้ว เงินที่ผู้ร้องขอให้ยึดในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ที่กิจการร่วมค้า N ทำกับกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งภายหลังกรมควบคุมมลพิษได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้คัดค้านทั้งสามกับพวกได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ และได้ฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองกลางขอให้บังคับกรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินแก่ผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เห็นว่า กิจการร่วมค้า N ประกอบด้วยบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 บริษัท ว. บริษัท ส. และบริษัท ก. และบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 มีนายรอยเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการ มีที่ตั้งแห่งเดียวกับบริษัท ม. และบริษัท ค. ที่มีนายวัฒนาเป็นผู้ถือหุ้น และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขายที่ดิน ตามคำเบิกความของนายเนตินัยพยานผู้ร้องประกอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ฟ้องกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายรอย นายกว๊อกวา กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และนายวัฒนากับพวกรวม 19 คน ต่อศาลแขวงดุสิต กล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตฉ้อโกง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N ได้ร่วมประกวดราคานำที่ดินหลายแปลงมาเสนอขายแก่กรมควบคุมมลพิษ โดยกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับบริษัท ค. มาก่อนแล้ว และขอให้กรมควบคุมมลพิษรับโอนที่ดินจากบริษัท ค. โดยตรง โดยปกปิดข้อเท็จจริงว่าที่ดินทั้ง 17 แปลง ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ความจริงที่ดิน 5 ใน 17 แปลง มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากบางส่วนเป็นคลองและถนนสาธารณะหรือที่ชายตลิ่ง เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ทำให้กรมควบคุมมลพิษ หลงเชื่อรับโอนที่ดินและชำระราคาให้บริษัท ค. กับกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันหลอกลวงกรมควบคุมมลพิษว่า บริษัท ธ. ซึ่งมีความสามารถทางเทคนิค มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับระบบการกำจัดน้ำเสียร่วมเป็นคู่สัญญาและร่วมทำงานกับกิจการร่วมค้า N กับนายพิษณุ ตัวแทนกิจการร่วมค้า N สามารถลงนามในสัญญาแทนบริษัท ธ. ได้ แต่ความจริงบริษัท ธ. ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจกับนายพิษณุไปก่อนลงนามในสัญญาแล้ว และไม่มีเจตนาผูกพันกับกรมควบคุมมลพิษ เป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษทำสัญญากับกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 กับพวก กับหลังจากนั้นยังหลอกลวงว่าบริษัท ธ. ยังร่วมทำงานกับกิจการร่วมค้า N ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 กับพวก เป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษเบิกจ่ายค่าจ้าง ค่าบริการ ค่าที่ดิน ค่าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างและเงินอื่น ๆ ตามที่กิจการร่วมค้า N กับพวกขอ ขอให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นายรอย นายกว๊อกวา กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และนายวัฒนามีความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงขายที่ดินให้แก่กรมควบคุมมลพิษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 นายรอย นายกว๊อกวา กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และนายวัฒนาแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่เป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ด้วย แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ (กรมควบคุมมลพิษ) ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายที่ดินก็ตาม แต่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 51 วรรคสาม ก็ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ร่วมกระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้ที่มีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีการทำธุรกรรมกับผู้กระทำความผิดด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า N และผู้คัดค้านที่ 1 กับบริษัทอื่นในกิจการร่วมค้า N ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่นายวัฒนาออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจากบริษัท ค. ที่นายวัฒนาถือหุ้นอยู่ เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน ที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คำพิพากษาคดีอื่นเป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95/1 วรรคสอง มิได้บัญญัติห้ามรับฟังพยานบอกเล่าเป็นการเด็ดขาด โดยได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอาญาดังกล่าว ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตามมาตรา 95/1 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 แม้มิได้เป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับที่วินิจฉัยมาข้างต้น แต่ตามข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาข้างต้นได้ความว่า โครงการนี้มีการทุจริตมาแต่แรกตั้งแต่การรวบรวมที่ดินโดยบริษัทในกลุ่มจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการ และบริษัทในกลุ่มดำเนินการก่อสร้างมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน โดยมีนายรอยที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 เกี่ยวข้องอยู่ในบริษัททั้งสองกลุ่ม แม้ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N เป็นเพียงรับเหมาช่วงงานจากกิจการร่วมค้า N แต่เมื่อพิจารณาความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในระดับกรรมการและผู้ถือหุ้นแล้วได้ความว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 3 ที่มีนายรอยเป็นกรรมการ โดยนายรอยเป็นกรรมการบริษัท ท. ซึ่งมีนายวัฒนาถือหุ้นอยู่ด้วย กับเป็นกรรมการบริษัท ม. และเป็นผู้ก่อการบริษัท ค. ที่นำที่ดินที่ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบมาเสนอขาย โดยนายรอยเป็นผู้รับมอบอำนาจบริษัท ค. นำที่ดินไปเสนอขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ และเป็นผู้รับเงินค่าที่ดินจากกรมควบคุมมลพิษ กับได้ความว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นในบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ที่เป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า N ด้วย ทั้งเมื่อกิจการร่วมค้า N ประมูลงานก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียจากกรมควบคุมมลพิษได้ บริษัทผู้คัดค้านที่ 3 ที่มีนายรอยเป็นกรรมการก็เข้ารับจ้างช่วงงานจากกิจการร่วมค้า N บริษัทดังกล่าวข้างต้นจึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดครั้งนี้ ลักษณะเป็นขบวนการกระทำความผิดเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน ที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับเหมาช่วงงานจากกิจการร่วมค้า N ก็เป็นเพราะผู้คัดค้านที่ 3 มีส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ร่วมกระทำผิดด้วยโดยผ่านทางนายรอยกรรมการ เมื่อนายรอยถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบและพยานหลักฐานของผู้ร้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานด้วย โดยผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคสาม ไม่จำต้องเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดหรือถูกฟ้องด้วย ที่ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาว่า คำพิพากษาคดีอื่นเป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95/1 วรรคสอง (1) มิได้บัญญัติห้ามรับฟังพยานบอกเล่าเป็นการเด็ดขาด โดยได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ กับเมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า เงินทั้ง 7 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังตามที่วินิจฉัยข้างต้นว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงเป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งสามที่จะต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า เงิน 7 รายการดังกล่าวเป็นเงินที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้จ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า เงินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงินที่ผู้คัดค้านทั้งสามได้รับมาตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่กิจการร่วมค้า N ทำกับกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่าสัญญาจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการและสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นโดยการทุจริต และกิจการร่วมค้า N เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการทุจริตดังกล่าว โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินและขายที่ดินให้กรมควบคุมมลพิษมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบริษัทหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N กับข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังมีการรับเงินจากกรมควบคุมมลพิษก็มีการโอนเงินให้บริษัทที่นายรอยเป็นกรรมการโดยไม่ปรากฏว่ามีมูลหนี้กันอย่างไร ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นายสังวรณ์ กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 นายรอย นายกว๊อกวา กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และนายวัฒนาซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นายสังวรณ์กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 นายรอย นายกว๊อกวา กรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 และนายวัฒนามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวก ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และเมื่อพิจารณาประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อม.2/2551 แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดำเนินการโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ มีการทุจริตมาแต่ต้น แม้โครงการจะแบ่งเป็น 2 สัญญา แต่กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 สัญญา มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในการทุจริตครั้งนี้ไม่อาจแบ่งแยกจากกัน บริษัทผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวพันและกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านทั้งสามที่เกี่ยวข้องก็ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้รับไปตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่ทำกับกรมควบคุมมลพิษจึงเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 แม้มิได้เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า N แต่ผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า N นอกจากนี้บริษัทผู้คัดค้านที่ 3 ยังมีนายรอยเป็นกรรมการ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายรอยมีความเกี่ยวพันกับบริษัทที่ร่วมกระทำความผิดทั้งในกลุ่มจัดหาที่ดินและกลุ่มประมูลงานก่อสร้างโครงการ ผู้คัดค้านที่ 3 เข้ารับจ้างช่วงงานจากกิจการร่วมค้า N ในภายหลัง ก็เพราะบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบริษัทหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของนายรอย และนายรอยได้นำบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 เข้าร่วมกระทำความผิดด้วย เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นายรอยจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ ดังนั้นย่อมถือได้ว่าเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับไปตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่กิจการร่วมค้า N ทำกับกรมควบคุมมลพิษเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้จ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่า แม้เงินที่ผู้คัดค้านทั้งสามได้รับเป็นการจ่ายตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ก็เป็นการจ่ายตามมูลสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับการทุจริตจัดหาที่ดินก่อสร้างโครงการ และการพิจารณาคดีนี้กับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นการพิจารณาวินิจฉัยคนละประเด็น โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณาประเด็นสิทธิหน้าที่จากข้อพิพาทตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จและคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นหลัก และที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงประเด็นโมฆะกรรมก็ดี ความสุจริตในการทำสัญญาก็ดี ก็เป็นการพิจารณาเรื่องสัญญาทางปกครอง มิได้พิจารณาประเด็นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และการทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ถึงแม้การจ่ายเงินตามสัญญาการออกแบบรวมก่อสร้างและจ้างเหมาเบ็ดเสร็จระหว่างกรมควบคุมมลพิษแก่กิจการร่วมค้า N จะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็อาจถูกสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ว่า มูลคดีเกิดระหว่างปี 2531 ถึง 2540 ก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 กับคดีขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า คดีขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา และมูลเหตุการขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินคดีนี้ต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้รับเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก อันเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้ทางแพ่งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอได้โดยไม่มีอายุความ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ