ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ธนาคาร ก. สาขาเดอะมอลล์บางแค บัญชีเลขที่ 238-4-38xxx-x จำนวนเงิน 72,638,946.29 บาท และของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ธนาคาร ก. สาขาสยามสแควร์ บัญชีเลขที่ 152-2-45xxx-x จำนวนเงิน 50,000,000 บาท พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นเงินที่กิจการร่วมค้า อ. ได้รับมาจากกรมควบคุมมลพิษในโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 คำพิพากษาของศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 และคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3501/2552 ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงิน 72,638,946.29 บาท ของผู้คัดค้านที่ 1 และเงิน 50,000,000 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ทั้งสองรายการพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยให้ถือเอาบัญชีรายการทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 กรมควบคุมมลพิษสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ร. จำนวน 3,965,428,361 บาท ให้แก่กิจการร่วมค้า อ. ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2558 กิจการร่วมค้า อ. โอนเงินจำนวน 562,500,000 บาท เข้าบัญชีบริษัท ป. ที่ธนาคาร ก. สาขาเดอะมอลล์บางแค บัญชีเลขที่ 238-0-72xxx-x จากนั้นบริษัท ป. โอนเงินจำนวน 68,500,000 บาท เข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 ที่ธนาคาร ก. สาขาเดอะมอลล์บางแค บัญชีเลขที่ 238-4-38xxx-x กับโอนเงินจำนวน 423,700,000 บาท เข้าบัญชีนางจรัสพิมพ์ ซึ่งเป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสองที่ธนาคาร ก. สาขาเดอะมอลล์บางแค บัญชีเลขที่ 238-4-60xxx-x จากนั้นนางจรัสพิมพ์โอนเงินจำนวน 100,000,000 บาท เข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว และโอนเงินจำนวน 50,000,000 บาท เข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 ที่ธนาคาร ก. สาขาสยามสแควร์ บัญชีเลขที่ 152-2-45xxx-x ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการธุรกรรมได้ประชุมแล้วพบข้อเท็จจริงว่านายวัฒนา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจำนวน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นที่หวงห้ามเพื่อขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 โดยกรมควบคุมมลพิษได้จ้างบริษัท ส. ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ตำบลคลองด่านไม่เหมาะสม เป็นดินเหลวใกล้ชายทะเล แต่เสนอให้แบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 แห่งคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางปูใหม่และฝั่งตะวันตกที่ตำบลบางปลากด นายสุวัจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอโครงการจัดการน้ำเสียต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ 17 ตุลาคม 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ กำหนดสถานที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในวงเงินงบประมาณจำนวน 13,612 ล้านบาท กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการประกาศประกวดราคาก่อสร้างระบบจัดการน้ำเสีย ครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดสถานที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางปูใหม่และตำบลบางปลากด จากนั้นกรมควบคุมมลพิษได้มีประกาศเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 ให้ท้องที่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สามารถยื่นเอกสารเพื่อขายที่ดิน โดยไม่คำนึงถึงผลรายงานการศึกษาที่เห็นว่าที่ดินตำบลคลองด่านไม่เหมาะสม ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า อ. ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ป. ที่มีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการรวมอยู่ด้วย และได้รับดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยกรมควบคุมมลพิษประกาศเปลี่ยน TOR เป็นโครงการออกแบบรวมก่อสร้างและระบบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ มีการขอเพิ่มงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรโดยไม่ผ่านสำนักงบประมาณเป็น 22,955 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2550 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาแก่นายวัฒนา ผลคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม.2/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 พิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา 10 ปี ในวันที่ 8 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กองจัดการควบคุมคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโฉนดโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการและไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 83 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 พิพากษาจำคุกนายปกิต จำเลยที่ 1 นายศิริธัญญ์ จำเลยที่ 2 และนางยุวรี จำเลยที่ 3 คนละ 20 ปี ตามคำพิพากษาของศาลอาญา ปรากฏข้อความว่ากิจการร่วมค้า อ. และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริตโดยมีจำเลยทั้งสามดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางขัดต่อระเบียบทางการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบกฎหมาย สมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา ทำให้มีการยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า อ. เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกรวม 19 คน โดยบริษัท ป. เป็นจำเลยที่ 4 และผู้คัดค้านที่ 1 ของคดีนี้เป็นจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงต่อศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงดุสิตรับฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่เป็นนิติบุคคล แล้วพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 โดยปรับจำเลยที่เป็นนิติบุคคลรวมถึงจำเลยที่ 4 บริษัท ป. รายละ 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลรวมถึงผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าวคนละ 3 ปี โดยศาลแขวงดุสิตวินิจฉัยว่า กลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้าง และมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของนายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวก คณะกรรมการธุรกรรมจึงเสนอให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) (15) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จากนั้นจึงมีการดำเนินการอายัดเงินในบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีเงินคงเหลือจำนวน 72,638,946.29 บาท และเงินในบัญชีของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมีเงินคงเหลือจำนวน 50,000,000 บาท ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เงินที่อายัดจำนวนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาที่ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าการทำธุรกรรมระหว่างกิจการร่วมค้า อ. กับกรมควบคุมมลพิษเป็นการดำเนินการโดยชอบตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เงินที่อายัดเป็นเงินจากการกระทำความผิดมูลฐานและมีเหตุให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 เป็นคำชี้ขาดในข้อพิพาททางแพ่งที่มีกระบวนวิธีพิจารณาพิเศษตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำชี้ขาดหามีผลผูกพันการพิจารณาค้นหาข้อเท็จจริงของศาลไม่ หากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว คู่กรณีประสงค์จะคัดค้านคำชี้ขาดก็ดี หรือต้องการบังคับตามคำชี้ขาดก็ดี ก็จะต้องมาร้องขอบังคับหรือร้องคัดค้านขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาล โดยศาลจะพิจารณาเพียงกระบวนการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการ และเหตุที่ไม่สามารถจะระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย หรือการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 หรือมาตรา 43 แล้วแต่กรณี โดยศาลที่พิจารณาตามคำร้องขอดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยลงไปในเนื้อหาข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดของข้อพิพาท กระบวนการในชั้นศาลจึงเป็นเพียงพิจารณาว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีเหตุให้ยอมรับ (recognition) หรือไม่ และควรบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (enforcement) ได้หรือไม่ ดังนั้น การที่คู่กรณีพิพาทได้นำคดีมาขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง แต่กรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้คัดค้านโดยอ้างว่าสัญญาจ้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เพราะเป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และข้อเรียกร้องไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557 ว่า คดีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ตามมาตรา 43 (4) จึงพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แสดงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ว่าได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะริบเงินได้ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกทั้งปัญหาว่าการกระทำของผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา จึงไม่อาจเอาข้อวินิจฉัยในคดีแพ่งหรือคดีปกครองมาผูกพันการรับฟังข้อเท็จจริงในทางอาญาได้ ต่างจากการรับฟังข้อเท็จจริงทางแพ่งที่มีกฎหมายคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ที่กำหนดให้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังนั้น ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า เงินที่กรมควบคุมมลพิษ จ่ายให้แก่กิจการร่วมค้า อ. แล้วกิจการร่วมค้า อ. จ่ายให้แก่บริษัท ป. แล้วโอนต่อมาให้ผู้คัดค้านทั้งสอง เป็นการจ่ายเงินตามสัญญาจ้างโดยชอบตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นั้น จึงยังไม่อาจนำมารับฟังเป็นยุติได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า เงินที่อายัดในคดีนี้เป็นเงินจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากกิจการร่วมค้า อ. ได้ทำสัญญาก่อสร้างโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ กับกรมควบคุมมลพิษ แล้วต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาแก่นายวัฒนา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ฐานใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งชี้มูลวินัยร้ายแรงและอาญาแก่เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง และกำนันตำบลคลองด่าน นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแก่นายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและนางยุวรี อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กรมควบคุมมลพิษ ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโฉนดโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการที่ไม่สามารถดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งต่อมากรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดที่ดิน 5 แปลง เนื้อที่ 1,358 ไร่ ที่กิจการร่วมค้า อ. เสนอขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อกลับเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน ต่อมากรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ฟ้องกิจการร่วมค้า อ. จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 19 คน ลงชื่อกระทำการแทนทั้งฝ่ายผู้จะซื้อและผู้จะขายเป็นการนำที่ดินที่ได้จากการรวบรวมแล้วออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ นำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ไม่ครบ และเป็นคลองเป็นถนนสาธารณะและเป็นที่ชายตลิ่ง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในคดีดังกล่าวยังร่วมกันหลอกลวงกรมควบคุมมลพิษว่า ผู้ดำเนินโครงการตามสัญญาจะประกอบด้วยบริษัท น. ด้วย เพราะเป็นบริษัทที่มีเทคนิคและประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับระบบการกำจัดน้ำเสียอันเป็นคุณสมบัติและสาระสำคัญทำให้กิจการร่วมค้า อ. จำเลยที่ 1 ได้รับคัดเลือกมาเป็นผู้ชนะการประมูล แต่พวกจำเลยปกปิดข้อเท็จจริงต่อกรมควบคุมมลพิษ ความจริงบริษัทดังกล่าวได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจและไม่ยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาก่อสร้างการกระทำของกิจการร่วมค้า อ. จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการฉ้อโกงกรมควบคุมมลพิษ คดีดังกล่าวศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องกิจการร่วมค้า อ. จำเลยที่ 1 แต่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 โดยจำเลยที่เป็นนิติบุคคลพิพากษาปรับ ส่วนจำเลยที่เป็นบุคคลพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8064/2560 โดยศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที 19 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 10 และที่ 11 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงที่ดิน จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 19 คนละ 3 ปี ปรับจำเลยที่ 2 ที่ 10 ที่ 12 และที่ 16 คนละ 6,000 บาท ฐานฉ้อโกงสัญญา จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 5 (ผู้คัดค้านที่ 1) ที่ 7 ที่ 9 และที่ 11 คนละ 3 ปี ปรับจำเลยที่ 2 ที่ 4 (บริษัท ป.) ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 คนละ 6,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 11 คนละ 6 ปี ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 10 คนละ 12,000 บาท ดังนี้เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องร้องขอให้ทรัพย์สินคือเงินที่อายัดไว้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีที่มาจากการที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่กิจการร่วมค้า อ. แล้วกิจการร่วมค้า อ. โอนให้บริษัท ป. จากนั้นบริษัท ป. โอนให้นางจรัสพิมพ์ แม้นางจรัสพิมพ์โอนเงินบางส่วนให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่ากิจการร่วมค้า อ. ไม่ได้กระทำหรือร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง เพราะศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องกิจการร่วมค้า อ. แม้กิจการร่วมค้า อ. จะไม่ถูกพิพากษาลงโทษ แต่องค์ประกอบของกิจการร่วมค้าดังกล่าวประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ซึ่งศาลฎีกาในคดีดังกล่าวพิพากษาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้วพิพากษาปรับ แสดงว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น และแม้ว่าการกระทำผิดดังกล่าวกิจการร่วมค้า อ. ถูกยกฟ้อง ไม่ได้รับโทษก็ตาม แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญา และมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้ผู้โอนทรัพย์ให้จะถูกศาลพิพากษายกฟ้องไป ก็ยังดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ ดังนั้น ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า กิจการร่วมค้า อ. ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เป็นการจ่ายเงินที่ชอบ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างต่อไปของผู้คัดค้านทั้งสองว่า กิจการร่วมค้า อ. กับพวก ถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตเป็นคดีฉ้อโกง จึงไม่เป็นความผิดมูลฐานเพราะความผิดมูลฐาน มาตรา 3 (18) หมายความว่า ความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8064/2560 เป็นการฉ้อโกงในคราวเดียวมิใช่ปกติธุระ นั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว คือศาลแขวงดุสิตว่า มีเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับเอกชนกระทำการโดยมิชอบในการรวบรวมแล้วออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำที่มิชอบ จากนั้นเอกชนกลุ่มดังกล่าวร่วมกับพนักงานของรัฐ คือ อธิบดี รองอธิบดี และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และระเบียบโดยไม่ชอบให้มีการดำเนินการโครงการจัดการระบบน้ำในตำบลคลองด่าน ทั้งที่ไม่อยู่ในรายงานการสำรวจเพื่อดำเนินการ แล้วมีการกำหนดเงื่อนไขเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3501/2552 หน้า 69 และ 70 ว่า "...ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐรู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 หลอกลวง ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นและเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 ...อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่า เพราะเหตุใดโจทก์จึงเลือกที่จะแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 ในความผิดฐานฉ้อโกงออกจากความผิดในการเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นความผิดที่มีอัตราโทษต่ำกว่า ทั้งยังเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยอยู่บ้าง..." ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ศาลแขวงดุสิตวินิจฉัยว่า การกระทำของกลุ่มจำเลยที่เป็นเอกชนได้ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ ทั้งในส่วนของการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ และในส่วนกำหนดโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จนมีการดำเนินคดีนายวัฒนา ในส่วนการรวบรวมที่ดินแล้วออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ และการดำเนินคดี นายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวก ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการทรัพย์ใด ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 เมื่อข้อเท็จจริงตามทางวินิจฉัยของศาลแขวงดุสิตดังกล่าวปรากฏชัดแจ้งว่า กลุ่มจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นเอกชน แต่ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานรัฐกระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดได้เพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของเจ้าพนักงานเพียงแต่กรมควบคุมมลพิษโจทก์ในคดีดังกล่าวเลือกแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นคดีฉ้อโกงที่มีโทษต่ำกว่า ทั้งยังเป็นคดียอมความได้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตทำให้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 7/2559 ว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 (กิจการร่วมค้า อ.) กับพวก รวม 19 คน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้อายัดเงินในคดีนี้ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการธุรกรรมดังกล่าวชอบแล้ว เพราะเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แม้โจทก์จะเลือกแยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 ที่เป็นเอกชนในฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความผิดมูลฐานที่มีการกระทำเกิดขึ้น ก็หาเป็นเหตุเปลี่ยนแปลงการกระทำความผิดมูลฐานให้แปรเปลี่ยนไปไม่ ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเงินที่อายัดมาจากการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดมูลฐาน และผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ แต่กลับนำสืบลอย ๆ อ้างว่าเป็นเงินที่ได้โดยชอบจากการทำงานตามสัญญา แล้วโอนต่อมาเพื่อชำระหนี้เงินกู้ก็ดี นางจรัสพิมพ์ มารดาโอนให้ตามศีลธรรมจรรยาก็ดี หาฟังลบล้างบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 ว่าเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานได้ไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ