โจทก์ฟ้องว่า วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับเอาไว้ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไป โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 83, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคสาม (1) (11) จำคุก 2 ปี ความผิดฐานอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่า จำเลยได้ลักเอากระเช้าของขวัญ จำนวน 4 กระเช้า มาจากห้างผู้เสียหาย คงมีจ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์และสิบตำรวจเอกอรรถพลเบิกความว่า ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาประมาณ 2.15 นาฬิกา ขณะที่พยานทั้งสองนั่งรถยนต์ออกตรวจไปตามถนนมะลิวัลย์ เมื่อถึงบริเวณหน้าห้างแฟรี่พลาซ่า พบจำเลยกับนายวีระพงษ์ถือกระเช้าของขวัญคนละ 2 กระเช้า เดินข้ามถนนหน้าห้างดังกล่าว จ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์สงสัยว่าจะได้มาจากการกระทำความผิด จึงขับรถเข้าไปสอบถาม จำเลยและนายวีระพงษ์บอกว่าเป็นพนักงานของห้างแฟรี่พลาซ่า และจับสลากได้ของขวัญมา นายวีระพงษ์บอกว่า หากไม่เชื่อให้ไปสอบถามยามได้ จ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์จึงพานายวีระพงษ์ข้ามถนนไปที่ห้างแฟรี่พลาซ่าและได้สอบถามยาม ยามบอกกว่านายวีระพงษ์เป็นพนักงานของห้างแต่ไม่มีการจับฉลากของขวัญ นายวีระพงษ์วิ่งหลบหนีไป จ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์จึงวิทยุแจ้งให้สิบตำรวจเอกอรรถพลคุมตัวจำเลยไว้ จ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์ให้ยามโทรศัพท์แจ้งนายธวิชซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยออกมาพบ จากนั้นก็ได้ไปสอบถามจำเลยเกี่ยวกับกระเช้าของขวัญของกลาง จำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยลักมาจากห้างแฟรี่พลาซ่า จึงได้จับกุมจำเลย โดยแจ้งข้อหาว่าลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมซึ่งบันทึกการจับกุมนี้ไม่มีรายละเอียดว่า จำเลยลักกระเช้าของขวัญได้อย่างไร ทั้งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ร้อยตำรวจเอกกุลชาติพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำจำเลยในวันเดียวกับที่จำเลยถูกจับกุม จำเลยให้การปฏิเสธ และได้ความจากนายธวิชว่า เมื่อได้สำรวจห้างปรากฏว่าไม่มีรอยงัดแงะ และไม่ทราบว่าจำเลยนำกระเช้าของขวัญออกมาได้อย่างไร ตามคำเบิกความของนายธวิชดังกล่าว ย่อมแสดงว่าถ้ากระเช้าของขวัญของกลางเป็นกระเช้าของขวัญที่คนร้ายลักมาจากห้างผู้เสียหายก็ต้องเอาออกมาก่อนห้างผู้เสียหายปิดคือเวลา 21.30 นาฬิกา เพราะถ้าเอาออกมาหลังจากห้างผู้เสียหายปิดแล้วสถานที่ที่เก็บกระเช้าของขวัญหรือบริเวณอาคารของห้างผู้เสียหายต้องมีร่องรอยการงัดแงะ ปัญหาว่ากระเช้าของขวัญเอาออกจากห้างผู้เสียหายก่อนห้างผู้เสียหายปิด ใครเป็นคนเอาออกมาและเอาออกมาอย่างไร เพราะโดยปกติห้างสรรพสินค้าทั่ว ๆ ไปต้องมีพนักงานคอยตรวจสอบว่าสิ่งของหรือสินค้าของห้างที่มีผู้นำออกจากห้างเป็นสิ่งของที่ได้ซื้อจากห้างและชำระเงินถูกต้องแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะพนักงานของห้างเองเมื่อห้างปิดขณะพนักงานออกจากห้าง ก็ต้องมีการตรวจสอบพนักงานทุกคนโดยละเอียดถี่ถ้วน กระเช้าของขวัญของกลางจำนวน 4 กระเช้า จะนำออกจากห้างผู้เสียหายโดยพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบไม่เห็นนั้น เป็นไปได้ยากเพราะเป็นสิ่งของที่มองเห็นได้ง่าย ดังนั้น เวลาที่กระเช้าของขวัญของกลางถูกลักไปน่าจะก่อนเวลาที่จ่าสิบตำรวจพิเชษฐ์และสิบตำรวจเอกอรรถพลพบจำเลยกับนายวีระพงษ์ถือกระเช้าของขวัญดังกล่าวเดินข้ามถนนแล้วหลายชั่วโมง พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยเป็นผู้ลักกระเช้าของขวัญของกลาง แต่พฤติการณ์ที่จำเลยกับนายวีระพงษ์ถือกระเช้าของขวัญของกลางที่ถูกคนร้ายลักไปจากห้างผู้เสียหายมาคนละ 2 กระเช้า ข้ามถนนหน้าห้างผู้เสียหายในเวลาดึกดื่นประมาณ 2.15 นาฬิกา และอ้างต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยว่าเป็นสิ่งของที่จำเลยได้มาจากการจับสลากของขวัญโดยไม่มีการจับสลากของขวัญที่ห้างผู้เสียหาย แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยได้รู้อยู่ว่ากระเช้าของขวัญของกลางเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก.