โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,426,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 230,711.25 บาท ค่าชดเชย 838,950 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 156,604 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 838,950 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 เป็นเงิน 4,194.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 1 สิงหาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมหรือไม่ เพียงใด แล้วพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่เฉพาะในประเด็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 20,746.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 1 สิงหาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการภาค ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 83,895 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จำเลยแจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างว่า ประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2562 โจทก์ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการภาคในการเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอ้างว่าเป็นการลงโทษทางวินัยและจะนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหลงเชื่อและยินยอมจ่ายเงินให้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยและมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งไปในทางมิชอบ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของจำเลย ขาดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน หมวดที่ 10 ข้อ 14 และ ข้อ 31 ในกรณีที่ร้ายแรง ในการทำงานโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน โจทก์ทราบถึงปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน รวมทั้งได้ลงลายมือชื่อในเอกสารความผูกพันส่วนตัวของข้าพเจ้าต่อ "ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน" (The Spirit & The Letter หรือ S&L) แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ลงโทษโดยการปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดวินัย โดยอ้างว่าจะนำเงินที่ปรับดังกล่าวไปจัดเลี้ยงปีใหม่ แต่ตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน จำเลยกำหนดมาตรการในการลงโทษทางวินัยไว้ 7 ประการ มิได้ระบุเรื่องการปรับเงินพนักงานผู้กระทำผิด การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ทางสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) (4) แต่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน แม้โจทก์ยอมรับในการสอบสวนว่าเคยได้รับการบอกกล่าวตักเตือนจากนายอดุลย์ ผู้บังคับบัญชาโจทก์จริง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่การเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรเพียงพอ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2563 ตามส่วน 10.5 วัน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 9 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีดังกล่าวเพียง 1.5 วัน คิดเป็นเงิน 4,194.75 บาท สำหรับที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมรวม 81 วัน นั้น ตามระเบีบบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดให้พนักงานสามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีปัจจุบัน โดยนำไปใช้ได้ในรอบปีถัดไปเท่านั้น มิได้อนุญาตให้พนักงานสะสมสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีผ่าน ๆ มาได้ทั้งหมด ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีใดบ้าง และแต่ละปีมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมจำนวนเท่าใด จึงไม่กำหนดให้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดวินัย ทั้งที่ทราบดีว่ามิใช่โทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย โดยโจทก์ยอมรับในการสอบสวนว่า นายอดุลย์ผู้บังคับบัญชาเคยตักเตือนมิให้กระทำการดังกล่าวแล้ว เมื่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ข้อ 14 กำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่กำหนดไว้ เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง คำเตือนหรือข้อแนะนำของจำเลยและของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด ทั้งจำเลยยังกำหนดปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน กำหนดข้อพึงปฏิบัติในจรรยาบรรณธุรกิจที่พนักงานทุกคนต้องนำไปปฏิบัติ รวมถึงความเป็นเลิศในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยกำหนดสิ่งที่พนักงานต้องปฏิบัติประการหนึ่งว่า ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและกฎระเบียบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืน และกำหนดสิ่งที่ผู้นำต้องปฏิบัติประการหนึ่งว่า ผู้บังคับบัญชาจะต้องสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบเพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน รวมทั้งจัดการกับปัญหาการปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบโดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ทั้งกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนไว้ว่า พนักงานและผู้นำที่ละเมิดนโยบายโดยเจตนารมณ์หรือลายลักษณ์อักษรจะถูกดำเนินการทางวินัยสูงสุดซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้าง แสดงให้เห็นว่าจำเลยให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการภาคทราบถึงระเบียบข้อบังคับการทำงาน นโยบายของจำเลยและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ชอบที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา แต่กลับฝ่าฝืนลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดวินัยทั้งที่มิใช่โทษทางวินัยที่จำเลยกำหนดไว้ การกระทำของโจทก์ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง และมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ตามลำดับ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมนั้น ต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าโจทก์ยังคงมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2562 ที่ยังมิได้ใช้สิทธิหรือไม่ เพียงใด เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้ววินิจฉัยใหม่ตามรูปคดี ต่อมาศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่ในประเด็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามตารางอัตราเงินเดือนของโจทก์ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งจำเลยได้จัดทำและรับรองสำเนาถูกต้องไว้ว่าโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ปี 2562 จำนวน 8 วัน เห็นสมควรกำหนดค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปี 2562 คิดเป็นเงิน 20,746.67 บาทแก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์ที่ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดวินัยซึ่งมิใช่โทษทางวินัยที่จำเลยกำหนดไว้ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ระเบียบวินัยและมาตรการในการลงโทษทางวินัย ข้อ 14 กำหนดว่า พนักงานต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทที่กำหนดไว้ และเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง คำเตือนหรือข้อแนะนำของบริษัทและของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด และในหัวข้อมาตรการในการลงโทษทางวินัย กำหนดโทษสำหรับพนักงานที่กระทำผิดวินัยไว้ทั้งสิ้น 7 ประการ โดยไม่มีเรื่องการลงโทษปรับเงิน ตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน แต่การที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเกิดจากมติของที่ประชุมพนักงานขาย อีกทั้งโจทก์เบิกความยอมรับว่า ในการทำงานโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และทราบว่าจำเลยมีปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน รวมทั้งโจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารความผูกพันส่วนตัวของข้าพเจ้าต่อ "ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน" (The spirit & The Letter หรือ S&L) ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบดีว่าจำเลยให้ความสำคัญกับการที่พนักงานของจำเลยทุกคนซึ่งรวมถึงตัวโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งรวมถึงการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด การที่โจทก์ได้ประชุมพนักงานขายแล้วมีมติให้ลงโทษปรับเงินพนักงานที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นโทษที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นการกระทำไปโดยพลการ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การจะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการภาค มีหน้าที่ดูแลพนักงานขายและบริหารยอดขาย และทางสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับมาได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งว่า พนักงานที่ถูกลงโทษปรับเงินเป็นพนักงานที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติงานคลาดเคลื่อน บกพร่องจริง การลงโทษปรับเงินประมาณครั้งละ 300 บาท แสดงว่าโจทก์ลงโทษปรับเงินเพื่อต้องการให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) จำนวน 838,950 บาท โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยังคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิจำนวน 1.5 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,194.75 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้างตามมาตรา 70 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 838,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 เป็นเงิน 4,194.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ