โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ 641,427 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และค่าปรับอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ของต้นเงิน 604,885 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งแปดไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12937, 33748 และ 5723 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ที่ขาดจนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 641,427 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และค่าปรับในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ของต้นเงิน 604,885 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12937, 33748 และ 5723 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากบังคับจำนองแล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่ขาดแก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตร ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 ข้อ 7 กำหนดให้โจทก์จัดให้มีบัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ไว้บัญชีหนึ่งต่างหากจากบัญชีอื่น เพื่อจ่ายเป็นเงินกู้แก่พนักงานของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานโจทก์ค้ำประกันเงินกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท วงเงินที่เกิน 150,000 บาท ต้องจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือใช้เงินฝากสะสมเป็นหลักประกัน และข้อ 14 วรรคสอง กำหนดว่าเมื่อผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่หรือจัดหาหลักประกันอื่นให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้ค้ำประกันเดิมจะออกจากสหกรณ์มิฉะนั้นถือว่าผู้กู้ผิดสัญญา สหกรณ์มีสิทธิเรียกให้ผู้กู้ชำระเงินสดคงค้างทั้งสิ้นคืนได้ ขณะจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12937, 33748 และ 5723 รวม 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายหน้า ในวงเงิน 268,000 บาท 198,000 บาท และ 186,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 29 ธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ 1,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี กำหนดชำระ 10 งวด งวดละ 100,000 บาท ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป โดยมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 พนักงานของโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 7 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 มิได้จัดให้มีผู้ค้ำประกันคนใหม่แทนก่อนจำเลยที่ 7 ลาออกจากการเป็นพนักงานโจทก์ นับถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ คงเหลือหนี้ค้างชำระแก่โจทก์คิดเป็นต้นเงิน 604,885 บาท และดอกเบี้ย 36,542 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การกู้เงินของจำเลยที่ 1 ก็แต่โดยอาศัยสิทธิการเป็นพนักงานของโจทก์ในการกู้ยืมเงินจากบัญชีเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ที่โจทก์ได้จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ ซึ่งจะเห็นได้จากสัญญากู้เงินระยะปานกลาง ข้อ 3 ระบุว่าเป็นการกู้เงินเฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อสวัสดิการพนักงาน ข้อ 4 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ระบุได้ใจความพอสังเขปเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ยและค่าปรับให้เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และในวรรคสามระบุได้ใจความพอสังเขปว่าหากมีกรณีตามที่กำหนดในระเบียบการให้กู้เงินระยะสั้นและระยะปานกลางแก่สมาชิก ผู้กู้ยินยอมให้สหกรณ์มีอำนาจเรียกเงินกู้คืน หากไม่ชำระคืนผู้กู้ยินยอมชำระเบี้ยปรับ จากพฤติการณ์และข้อสัญญาดังกล่าวแสดงถึงเจตนาอันชัดแจ้งของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าประสงค์ให้ถือเอาระเบียบของสหกรณ์โจทก์เกี่ยวกับการกู้เงินมาบังคับเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินระยะปานกลางด้วย ซึ่งก็คือระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 นั่นเอง ดังนี้ นอกจากโจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามสัญญากู้เงินระยะปานกลางแล้ว ยังต้องถือปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวด้วย กล่าวเฉพาะกรณีพิพาทคดีนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่จัดให้มีผู้ค้ำประกันคนใหม่แทนก่อนจำเลยที่ 7 จะออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 ข้อ 14 วรรคสอง กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้กู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่อันเป็นการป้องกันมิให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการบังคับชำระหนี้กรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์หลักประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 7 แล้ว ยังมีผู้ค้ำประกันที่เป็นพนักงานของโจทก์ คือจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 รวม 5 คนด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท รวม 5 คน คิดเป็นมูลค่า 150,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12937, 33748 และ 5723 รวม 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายหน้า ในวงเงิน 268,000 บาท 198,000 บาท และ 186,000 บาท ตามลำดับ รวมหลักประกันด้วยทรัพย์มีมูลค่าเป็นเงิน 652,000 บาท เท่ากับหลังจากจำเลยที่ 7 ออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์แล้วโจทก์ยังมีหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์มูลค่ารวมทั้งสิ้น 802,000 บาท ได้ความว่าขณะฟ้องจำเลยที่ 1 มีหนี้คงเหลือ เงินต้น 604,885 บาท และดอกเบี้ย 36,542 บาท โดยก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย ดังนี้ หลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องของโจทก์จึงมีมูลค่าเกินกว่าหนี้คงเหลือที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์สำหรับในงวดอนาคต เป็นจำนวนกว่า 170,000 บาท ซึ่งนับเป็นหลักประกันที่มั่นคงมีมูลค่ามากกว่าจำนวนหนี้เงินกู้ที่เหลือมาก การที่จำเลยที่ 7 ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จึงไม่มีผลทำให้หลักประกันการชำระหนี้ของโจทก์มีมูลค่าลดน้อยลงจนอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้ครบถ้วนกรณีจำเลยที่ 1 ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ได้ แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตร ศ. ว่าด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ.2555 ข้อ 14 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยที่ 7 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดหาผู้ค้ำประกันคนใหม่มาแทน จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 252 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ