โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83, 91,
264, 265, 268, 341
กับให้จำเลยชดใช้เงิน 6,866,694.98 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา
บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมและข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
ส่วนข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 4 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค
4 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม) มาตรา 268
วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) และมาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม
เมื่อจำเลยกับพวกเป็นผู้ร่วมกันปลอมและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม
จึงลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก
ประกอบมาตรา 265 (เดิม) และมาตรา 83 ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว
ความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมกับฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก
ประกอบมาตรา 265 (เดิม) และมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน
6,866,694.98 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นายเพชรรัตน
ทำสัญญาประกันชีวิตกับโจทก์ร่วม จำนวน 3 กรมธรรม์
ฉบับแรกเป็นการคุ้มครองสินเชื่อการกู้ยืมเงิน มีผู้รับประโยชน์
คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งต่อมาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด
(มหาชน) กับจำเลยและนายธรรมศาสตร์ กรมธรรม์ฉบับที่ 2
คุ้มครองสินเชื่อประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชี
มีผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกับกรมธรรม์ฉบับแรก และกรมธรรม์ฉบับที่
3 โจทก์ร่วมยกเลิกไปภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเป็นมารดาของนายเพชรรัตน ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ
ใช้เอกสารราชการปลอมและฉ้อโกง นายเพชรรัตนให้การรับสารภาพ
ศาลมีคำพิพากษาแล้วตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1044/2560 ของศาลชั้นต้น
ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายร่วมกับนายเพชรรัตนปลอมใบมรณบัตรของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลโนนสัง
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโนนสัง
อันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ
แล้วร่วมกันนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นประกอบคำแถลงของผู้อ้างสิทธิสินไหมมรณกรรมเพื่อแสดงต่อโจทก์ร่วมขอรับเงินค่าสินไหมมรณกรรมของกรมธรรม์ประกันชีวิตของนายเพชรรัตน
โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และนายเพชรรัตนถึงแก่ความตายจริง จึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของนายเพชรรัตนให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์
จำกัด (มหาชน) นายธรรมศาสตร์และจำเลยเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,866,694.98 บาท
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเพชรรัตนเป็นเอกสารราชการปลอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า
จำเลยกระทำความผิดร่วมกับนายเพชรรัตน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีแต่พยานที่ยืนยันว่าจำเลยนำเอกสารที่นายเพชรรัตนปลอมมายื่นประกอบคำแถลงขอรับค่าสินไหมทดแทนและไถ่ถอนจำนองที่ดิน
แต่ไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้เห็นว่าจำเลยร่วมปลอมเอกสารดังกล่าวกับนายเพชรรัตน
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการตามฟ้อง
ส่วนความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมและร่วมกันฉ้อโกงนั้น
เห็นว่า แม้นายคมน์จะเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม แต่ก็ไม่มีสาเหตุใดที่ต้องใส่ร้ายจำเลย
อีกทั้งเบิกความถึงขั้นตอนการตรวจรับเอกสารเบื้องต้นโดยไม่มีข้อพิรุธสงสัยว่านำความเท็จมาปรักปรำจำเลย
เชื่อได้ว่าเบิกความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับฟังได้ว่าจำเลยไปยื่นคำแถลงของผู้อ้างสิทธิสินไหมทดแทนมรณกรรมต่อนายคมน์
พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองต่างเบิกความว่า
สำเนาเอกสารทั้งหมดที่จำเลยนำมายื่นมีการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้แล้ว
จำเลยเพียงแต่ลงชื่อในคำแถลงขอรับสินไหมทดแทน บันทึกกรณีลูกหนี้ไถ่ถอนจำนอง
และสมุดทะเบียนรับเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งจำเลยนำสืบว่า ไม่ทราบว่าเอกสารที่นายเพชรรัตนให้นำไปยื่นเป็นเอกสารปลอม
และไปติดต่อตามที่นายเพชรรัตนแจ้งว่าเป็นการขอรับเงินกู้ที่เคยทำสัญญาไว้แล้ว
เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่นายเพชรรัตนทำสัญญากู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินและทำสัญญาประกันชีวิตไว้
ต่อมาวางแผนฉ้อโกงโจทก์ร่วมว่าถึงแก่ความตายเพราะต้องการได้เงินค่าสินไหมทดแทน
การที่ให้จำเลยนำเอกสารราชการที่นายเพชรรัตนทำปลอมขึ้นไปติดต่อนายคมน์และนางสาวนันทวันก็เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนที่นายเพชรรัตนวางแผนฉ้อโกงโจทก์ร่วมไว้
เพียงแต่นายเพชรรัตนปรากฏตัวลงมือกระทำเองไม่ได้
ประกอบกับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา นายเพชรรัตนจึงจำเป็นต้องให้จำเลยนำเอกสารราชการปลอมทั้งหมดไปแสดงตนว่าเป็นผู้รับประโยชน์
เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่โจทก์ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์
จำกัด (มหาชน) กำหนดเป็นเงื่อนไขในการขอรับสินไหมทดแทนและไถ่ถอนจำนองที่ดิน
ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 74 ปี อ่านหนังสือไม่ออก เขียนได้แต่ชื่อของตนเอง
จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่าเอกสารที่จำเลยนำไปติดต่อขอรับค่าสินไหมทดแทนกรณีมรณกรรมและไถ่ถอนจำนองที่ดินเป็นเอกสารปลอมตามที่จำเลยนำสืบ
ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบก็มีเพียงว่า
จำเลยนำเอกสารดังกล่าวมายื่นเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกับนายเพชรรัตนใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง
และเห็นว่าลักษณะการกระทำความผิดของนายเพชรรัตนมีการวางแผนอย่างซับซ้อน
จึงไม่น่าเชื่อว่านายเพชรรัตนจะให้จำเลยทราบถึงแผนการหรือให้จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การที่จำเลยนำเอกสารราชการปลอมไปยื่นต่อนายคมน์และนางสาวนันทวันก็อาจเป็นเพราะทำตามที่นายเพชรรัตนแจ้งขั้นตอนและวิธีการให้ทำในลักษณะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับนายเพชรรัตนฉ้อโกงโจทก์ร่วม
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง