โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 342 ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 984/2561 ของศาลชั้นต้น และขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 6,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงิน 6,800,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 984/2561 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 6,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องในคดีส่วนแพ่งใหม่ ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสามไม่ได้ชำระมาจึงไม่จำต้องสั่งคืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเพื่อนกับนาง ฐ. จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 นาย พ. เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 โจทก์รู้จักจำเลยทั้งสามจากการแนะนำของนาง ฐ.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่โจทก์และนาง ฐ. จะร่วมลงทุนเข้าหุ้นในกิจการของโรงเรียนกวดวิชา บ. จำเลยที่ 2 กับนาย พ. น้องชายของจำเลยที่ 2 ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชา บ. สาขาชลบุรี ตั้งแต่ปี 2558 มีจำเลยที่ 3 เป็นครูสอนมาตั้งแต่ก่อตั้ง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นครูสอนตั้งแต่ปลายปี 2559 แสดงว่าก่อนที่โจทก์กับนาง ฐ. จะร่วมลงทุนเข้าหุ้น โรงเรียนกวดวิชา บ. ก่อตั้งและดำเนินการสอนมาก่อนหน้านั้นแล้ว อันเป็นการยืนยันว่าโรงเรียนกวดวิชา บ. มีอยู่จริง และเปิดทำการสอนจริง ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2560 นาง ฐ. ร่วมลงทุนเปิดโรงเรียนกวดวิชา บ. ในอำเภอศรีราชา และวันที่ 8 มิถุนายน 2560 นาง ฐ. ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซื้อหุ้นโรงเรียนกวดวิชา บ. สาขาชลบุรี จากจำเลยที่ 2 และประมาณเดือนกรกฎาคม 2560 โจทก์โอนเงิน 6,800,000 บาท เพื่อร่วมลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของนาง ฐ. เมื่อนับระยะเวลานับแต่โรงเรียนกวดวิชา บ. ก่อตั้งจนกระทั่งโจทก์กับนาง ฐ. มาร่วมลงทุน โรงเรียนกวดวิชา บ. เปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปี แล้ว การดำเนินการตลอดระยะเวลา 2 ปี มีนักเรียนมากวดวิชาจำนวนมาก ยากที่จำเลยทั้งสามจะสร้างเรื่องมาหลอกลวงโจทก์หากไม่มีการดำเนินการจริง ต่อมานาง ฐ. ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของโจทก์แนะนำโจทก์ให้ร่วมลงทุนเข้าหุ้นในกิจการโรงเรียนกวดวิชา บ. เนื่องจากนาง ฐ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนได้เข้าไปบริหารโรงเรียนกวดวิชา บ. แล้วเห็นว่ามีการเรียนการสอนจริง และมีรายได้เข้ามาจริง และก่อนที่โจทก์ร่วมลงทุน โจทก์ได้ตรวจดูกิจการของโรงเรียนกวดวิชา บ. ด้วยตนเอง โดยการนำรหัสที่ได้รับจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดดูการดำเนินการของโรงเรียนแล้ว ทั้งยังได้พูดคุยกับจำเลยที่ 2 ถึงเรื่องร่วมลงทุน เมื่อได้ความว่า โจทก์เป็นนักธุรกิจประกอบกิจการขนส่ง แสดงว่าก่อนที่โจทก์จะตกลงร่วมทุนในกิจการของโรงเรียนกวดวิชา บ. โจทก์ได้ตรวจสอบกิจการของโรงเรียนอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความเสี่ยง ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอย่างดีแล้ว ก่อนที่โจทก์จะร่วมทุน กรณีจึงน่าเชื่อว่า การที่โจทก์ตกลงลงทุนเข้าหุ้นในกิจการของโรงเรียนกวดวิชา บ. เกิดจากการชักชวนของนาง ฐ. เพื่อนสนิทของโจทก์ เพราะนาง ฐ. ได้ลงทุนเข้าหุ้นก่อนโจทก์ ไม่ได้เกิดจากการหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์ พ. ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต่อมาโจทก์และนาง ฐ. เข้ามาช่วยบริหารโรงเรียนกวดวิชา บ. แล้วเห็นว่าการบริหารจัดการโรงเรียนไม่โปร่งใส มีการถอนเงินส่วนกลางไปใช้ส่วนตัว ทั้งโจทก์และนาง ฐ. เห็นว่าทางโรงเรียนกวดวิชา บ. ได้เก็บเงินค่ากวดวิชารายละ 130,000 บาท มีผู้สมัครประมาณ 100 ราย มีรายได้ประมาณ 13,000,000 บาท โดยรับรองผลว่า หากผู้สมัครไม่สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียน ช. ได้ทางโรงเรียนกวดวิชา บ. จะคืนเงินให้ผู้สมัคร โจทก์และนาง ฐ. จึงประสงค์ที่จะถอนหุ้น เพราะเกรงว่าจะต้องร่วมรับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าว ฉะนั้น การที่โจทก์ตกลงร่วมลงทุนกับจำเลยทั้งสามเพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสามประกอบกิจการในโรงเรียนกวดวิชาจริง และหากร่วมลงทุนด้วยแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยมีการวิเคราะห์ถึงข้อมูลต่าง ๆ ก่อนแล้วจึงตัดสินใจเข้าร่วมลงทุน เชื่อว่าโจทก์ตกลงร่วมลงทุนกับจำเลยทั้งสามด้วยความสมัครใจ มิใช่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ได้รับรองไว้กับโจทก์ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ซึ่งโจทก์ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้เงิน 6,800,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ซึ่งโจทก์ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก และที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง แต่จำเลยทั้งสามมิได้วางค่าฤชาธรรมเนียมที่เป็นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง คดีในส่วนแพ่งถือว่าถึงที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 252 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ในส่วนของจำเลยมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับไปตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องเสีย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วยตามที่โจทก์ฎีกามาก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่น ๆ ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ