โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบไม้พะยูงและรถของกลาง กับจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสี่ ฐานร่วมกันมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 9 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย คงจำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน ริบไม้พะยูงแปรรูปและไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปกับรถเก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า และรถกระบะ ยี่ห้ออีซูซุของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกคำขอให้ริบรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า ของกลาง และให้คืนแก่เจ้าของ ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ลงโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 คำขอส่วนนี้จึงให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในป่า ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไม้ที่ขึ้นในป่าแนบมาท้ายฟ้องจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ซึ่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ มีผลใช้บังคับแล้ว โดยในข้อ 1. ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวกำหนดให้ไม้พะยูงไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ดังนั้น โจทก์จึงหาจำต้องบรรยายฟ้องว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในป่า และไม่ต้องแสดงหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไม้ที่ขึ้น ในป่าแนบมาท้ายฟ้อง เมื่อโจทก์ได้กล่าวถึงประกาศดังกล่าวไว้ในคำฟ้องข้อ 1. ว่า เนื่องด้วยได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ข้อ 1. กำหนดให้ไม้พะยูงไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และบรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองไว้ในคำฟ้องข้อ 2. ว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองกับนายธีรภัทร จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3842/2561 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันมีไม้พะยูงแปรรูป 39 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.728 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และร่วมกันมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูป 15 ท่อน ปริมาตร 0.167 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นการบรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ขอให้ศาลไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของชาวบ้านในอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่มาของไม้พะยูงของกลาง จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาที่จำเลยที่ 1 ร้องขอไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องดังกล่าวนี้อีกโดยเจตนา ที่จะให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของผู้อื่น ทำนองเดียวกับการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้อง ของจำเลยที่ 1 มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน