โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยรับมอบรถจักรยานยนต์คืนไปด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับมอบรถจักรยานยนต์ที่โจทก์เป็นผู้ชนะการประมูลคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ และคืนเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับมอบรถจักรยานยนต์คืนจากโจทก์ และชำระเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 23 สิงหาคม 2559 จำเลยประกาศประมูลขายทอดตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2559 โจทก์ประมูลซื้อรถจักรยานยนต์ หรือรถพิพาทราคา 460,000 บาท ชำระเงินครบถ้วนและได้รับเอกสารประกอบการจดทะเบียนจากจำเลย เมื่อนำรถพิพาทไปจดทะเบียนต่อสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน โดยแจ้งว่ารถพิพาทเป็นรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ตามหนังสือแจ้งผลการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการขายทอดตลาดของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายอำพล ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความได้ความว่า วันที่ 25 สิงหาคม 2559 โจทก์เข้าร่วมประมูลขายทอดตลาดรถพิพาท มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งรายละเอียดให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขายทอดตลาดของกลางก่อนที่จะมีการประมูลรถของกลางทุกคัน รถพิพาทที่จำเลยนำมาประมูลขายทอดตลาดเป็นรถจักรยานยนต์ที่ประกอบและนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนมาประกอบขึ้นในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เมื่อผู้ชนะการประมูลและชำระราคาครบถ้วน จำเลยจะออกหนังสือพร้อมเอกสารให้ผู้ชนะการประมูลนำไปจดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องต่อไป แต่เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนต่อสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนแจ้งว่ารถพิพาทเป็นรถที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ในประเทศ ขัดต่อกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2557 กรมการขนส่งทางบกจึงงดรับจดทะเบียนรถพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ต้องการประมูลซื้อรถพิพาทที่ประกอบและนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน แต่เมื่อปรากฏว่ารถพิพาทเป็นรถที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ในประเทศ การที่โจทก์ประมูลซื้อรถพิพาทจากการขายทอดตลาดของจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่เข้าร่วมประมูลซื้อรถพิพาท การแสดงเจตนาของโจทก์ในการประมูลรถพิพาทจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 (3) ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียนรถพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการตีความกฎกระทรวงดังกล่าวกว้างเกินไปนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับกรมการขนส่งทางบก เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ถือว่าการประมูลซื้อรถพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง โจทก์ต้องคืนรถพิพาทแก่จำเลย และจำเลยต้องคืนเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน คือ วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จโจทก์ จึงไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ย ให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลอนาคตในศาลชั้นต้น 100 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกาให้เป็นพับ