โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92หนึ่งในสาม ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78โดยที่ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด เห็นสมควรไม่เพิ่มไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านายเชียร ศรีบัว ผู้เสียหายได้ถูกคนร้ายฟันในบริเวณบ้านพักของนายเกษม ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนปรากฏรายละเอียดบาดแผลตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องและจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและพ้นโทษมายังไม่เกินห้าปี คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์มั่นคงพอรับฟังลงโทษจำเลยตามฟ้องหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความผู้เสียหายไม่มีพยานอื่นสนับสนุนและขัดต่อเหตุผลนั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายไม่ได้เห็นจำเลยในขณะฟัน แต่ผู้เสียหายก็ได้หันไปมองจำเลยเห็นจำเลยถือมีดอีโต้อยู่ในทันใดที่ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณท้ายทอย และในชั้นสอบสวน จำเลยก็รับว่า ได้ใช้มีดฟันศีรษะผู้เสียหายจริงคดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ใช้มีดฟันผู้เสียหาย ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายนั้น นายแพทย์ไกรสร พยานโจทก์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหาย ได้ทำรายงานตามเอกสารหมาย จ.8 ว่ามีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะและหน้าเป็นบาดแผลถูกของมีคมขอบเรียบหลังศีรษะ2 แผล เป็นแผลยาว 5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร และแผลยาว3 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร แผลที่หน้าอกซ้ายยาว 6 เซนติเมตรไม่ลึกแผลฉีกขาดที่หน้าผากด้านซ้ายยาว 4 เซนติเมตร กว้าง1 เซนติเมตร ผู้ป่วยรู้เรื่องดีใช้เวลารักษาบาดแผลไม่เกิน 14 วันและเบิกความว่า กะโหลกศีรษะผู้เสียหายไม่แตก ส่วนความลึกบาดแผลตามรายงานนั้นคาดคะเนเอา หากได้รับการรักษาไม่ทันแล้วก็อาจถึงแก่ความตาย บริเวณศีรษะตั้งแต่หนังศีรษะถึงกะโหลกศีรษะห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร แต่ในบางส่วน หากมีกล้ามเนื้ออยู่มากก็อาจห่างถึง 2 เซนติเมตร เมื่อได้พิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ตอนก่อนเกิดเหตุประกอบลักษณะของมีดที่จำเลยใช้ฟันและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับแล้ว ยังฟังไม่ถนัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แม้มีรอยแผลที่ศีรษะ 2 แผล ก็ไม่ใช่แผลฉกรรจ์ ส่วนแผลที่อื่นนอกจากบนศีรษะน่าเชื่อว่า เกิดจากการปล้ำกัน โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยจับมือของผู้เสียหายทั้งที่ถือปืน ผู้เสียหายจับมือจำเลยทั้งที่ถือมีดนายสมจิตร พรมสังข์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนความข้อนี้ถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย บาดแผลน่าจะฉกรรจ์มากกว่านี้เพราะขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายหันหลังให้จำเลย จำเลยมีโอกาสที่ใช้กำลังแรงเข้าโถมฟันผู้เสียหายได้ที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าพยานฆ่าผู้เสียหายนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาขัดกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย คดีก็ต้องรับฟังตามที่ได้ความในทางพิจารณา สรุปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มั่นคงพอรับฟังลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายคงรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน สำหรับคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยของโจทก์นั้น ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ฉบับนี้บัญญัติว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆปรากฏว่า ความผิดฐานมีเฮโรอีนที่โจทก์ถือเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษนั้นจำเลยได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนี้จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้"
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี