โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) (4) จำคุก 1 ปี และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปลายปี 2557 จำเลยกู้เงินโจทก์ทั้งสองหลายครั้งโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2559 จำเลยสรุปรายการจำนวนต้นเงินที่ค้างชำระกับโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,600,000 บาท หลังจากวันดังกล่าวจำเลยขอกู้เงินโจทก์ทั้งสองอีก 1,550,000 บาท โดยทำสัญญาเงินกู้รวม 3 ฉบับ พร้อมสั่งจ่ายเช็ครวม 3 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อชำระหนี้ แต่เช็คทั้งสามฉบับดังกล่าว ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 จำเลยตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ เช็คตามฟ้องเป็นเช็คฉบับที่ 3 ที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในงวดที่ 3 เมื่อเช็คตามฟ้องถึงกำหนด โจทก์ที่ 1 นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย"
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 257/2561 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 257/2561 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมเช็ค 3 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายพร้อมทำสัญญากู้เงินก่อนทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง เมื่อเช็คที่โจทก์ทั้งสองนำไปฟ้องจำเลยในคดีก่อนเป็นเช็คคนละฉบับกับที่มาฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างกัน แม้จำเลยจะออกเพื่อชำระหนี้อันมีมูลหนี้มาจากหนี้กู้ยืมเช่นเดียวกันก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็ย่อมนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ หาเป็นฟ้องซ้ำตามที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ทั้งสองเป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสองจนกระทั่งมีต้นเงินค้างชำระเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงทำสัญญากู้ยืม 3 ฉบับ พร้อมสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้กู้ยืมดังกล่าว แต่เช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้พร้อมทั้งสั่งจ่ายเช็คเป็นรายงวดเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง รวมถึงเช็คตามฟ้อง อันสอดคล้องกับข้อความในสำเนาสัญญากู้ยืมและสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งยอดเงินกู้มีการระบุว่าเป็นต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมและยอดเงินที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกัน โดยมีการระบุว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้กู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งในข้อนี้จำเลยเองก็เบิกความตอบทนายจำเลยซักถามยอมรับว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้กู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้ อันเป็นการเจือสมให้คำเบิกความของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ทั้งสองมีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ทั้งได้ความจากจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านยอมรับว่า จำเลยได้เบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 ของศาลชั้นต้นว่าหนังสือรับสภาพหนี้มีเฉพาะต้นเงินไม่รวมดอกเบี้ยแต่อย่างใดประกอบกับท้ายหนังสือรับสภาพหนี้ยังระบุว่า จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยด้วยเช็คของธนาคาร ท. คนละฉบับกับเช็คตามฟ้องที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระต้นเงินเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้กู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าสัญญากู้เงิน ที่โจทก์อ้างต้นฉบับไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 กำหนดว่าตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้น เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ซึ่งต้องห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งในคดีนี้จำเลยตกลงชำระหนี้กู้ยืมโดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ และสั่งจ่ายเช็คคดีนี้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 104 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้กู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีสัญญาเงินกู้มาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คตามฟ้องถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้แตกต่างกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4155/2560 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1344/2563 ของศาลแขวงนนทบุรี ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบเงินให้แก่จำเลย การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่มาและจำนวนรายได้ตามเอกสารแนบท้ายฎีกานั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ได้นำสืบหรือถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองด้วยเอกสารดังกล่าวให้ปรากฏข้อเท็จจริงไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นมาเพื่อขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามที่จำเลยกล่าวอ้างได้เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 ของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้วว่า คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามเอกสารท้ายฎีกาของจำเลย โดยโจทก์ทั้งสองยื่นคำแก้ฎีการับข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงไม่มีโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนที่ศาลฎีกาจะนับโทษต่อได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1