โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,733,784.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.750 ต่อปี ของต้นเงิน 520,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จากกองมรดกของนาวสาววัชรี แต่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์มรดกอื่นของนางสาววัชรีขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาววัชรี นำทรัพย์มรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์รวม 1,733,784.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 520,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ไม่เกินวงเงินจำนองรวมดอกเบี้ย หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์มรดกของนางสาววัชรีนำมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท แต่ทั้งนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงิน 520,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) ย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปี และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่า นางสาววัชรี ทำหนังสือกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จำนวนหนี้ 450,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี รวม 8 งวด งวดสุดท้ายชำระหนี้คืนในวันที่ 31 มีนาคม 2547 กรณีผิดนัดโจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด นางสาววัชรีได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญาจำนองและที่จะมีขึ้นในอนาคต นางสาววัชรีนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในต้นเงินสูงสุด 1,050,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีเงื่อนไขว่า หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นได้ ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 70,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี รวม 7 งวด งวดสุดท้ายชำระหนี้คืน ในวันที่ 31 สิงหาคม 2547 กรณีผิดนัดโจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด นางสาววัชรีได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว ปรากฏว่านางสาววัชรีไม่สามารถชำระหนี้โจทก์ตามหนังสือกู้เงินทั้งสองฉบับได้จึงได้ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้โดยตกลงจะชำระเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถชำระหนี้โจทก์ได้ วันที่ 30 มีนาคม 2548 โจทก์และนางสาววัชรีได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนางสาววัชรีรับว่าเป็นหนี้ในต้นเงินฉบับแรก 450,000 บาท ดอกเบี้ย 519,711 บาท ฉบับที่ 2 ต้นเงิน 70,000 บาท ดอกเบี้ย 67,978 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่โจทก์กำหนดแต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี รวม 20 งวด งวดสุดท้ายชำระในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กรณีนางสาววัชรีผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิเรียกเงินกู้คืนได้โดยไม่ต้องรอหนี้ถึงกำหนดตามสัญญาได้ นางสาววัชรีชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน ครั้งสุดท้ายฉบับแรกชำระวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ฉบับที่ 2 วันที่ 28 มีนาคม 2555 คงค้างชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 520,000 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 1,213,784.66 บาท นางสาววัชรีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาววัชรี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องส่วนดอกเบี้ยตามหนังสือกู้เงินขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยขาดอายุความหรือไม่ และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นาวสาววัชรีตกลงกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 520,000 บาท โดยนางสาววัชรีตกลงผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี ปรากฏว่า นางสาววัชรีผิดเงื่อนไขไม่ชำระหนี้โจทก์ นางสาววัชรีจึงได้ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้โดยตกลงผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวด งวดละ 1 ปี แต่ก็ยังผิดสัญญาอีก โจทก์และนางสาววัชรีจึงได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนางสาววัชรีตกลงผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายงวด งวดละ 1 ปี รวม 20 งวด หลังจากทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนางสาววัชรีผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามหนังสือกู้เงินฉบับแรกวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ฉบับที่ 2 วันที่ 28 มีนาคม 2555 และถือว่านางสาววัชรีผิดนัดชำระหนี้งวดที่เหลือทั้งหมดนับแต่วันดังกล่าว กรณีเป็นการชำระหนี้ที่มีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนเงินที่ค้างชำระต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ที่มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 และวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้นางสาววัชรีชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ เมื่อนับถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานเป็นอันขาดอายุความ แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มีประเด็นว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ที่ศาลจะมีอำนาจหยิกยกขึ้นวินิจฉัยก็ตาม แต่ในส่วนของหนี้จำนองนั้น เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิเจ้าหนี้ผู้รับจำนองสามารถบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีที่ผู้รับจำนองไม่ต้องรับผิดเป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยเพียง 5 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ระบุไว้ในคำพิพากษาเพียงว่าให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงิน 520,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี โดยมิได้ระบุไว้ให้ชัดแจ้งด้วยว่า ให้นำมาใช้เฉพาะในกรณีที่โจทก์บังคับจำนองเท่านั้น เป็นการพิพากษาให้สิทธิของโจทก์ในการบังคับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญในส่วนของดอกเบี้ยน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง คดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกา 953,785.66 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 19,075 บาท แต่โจทก์เสียค่าชั้นศาลชั้นฎีกามา 24,275 บาท เกินมา 5,200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 1,733,784.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 520,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เฉพาะในส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องให้ชำระย้อนหลังขึ้นไปไม่เกินห้าปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์ชำระเกินมา 5,200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้ตกเป็นพับ