โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 60,231,700.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 40,766,509.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงิน 29,773,738.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 4,004,744.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 4 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เงินประจำเป็นเงิน 6,322,098.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มแอลอาร์ บวกร้อยละ 4 ต่อปี ของต้นเงิน 6,027,414.72 บาท นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2559 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เป็นเงิน 5,132,516.02 บาท และตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 เป็นเงิน 4,044,876.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 4 ต่อปี ของต้นเงิน 5,132,516.02 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ตามลำดับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เป็นเงิน 20,378,970.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 4 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2558 ของต้นเงิน 14,500,000 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 และของต้นเงิน 2,500,000 บาท นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2558 วันที่ 4 ธันวาคม 2558 และวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ปรับเปลี่ยนขึ้นลงแปรผันไปตามประกาศของโจทก์ที่ประกาศไว้แล้วหรือที่จะให้มีผลบังคับต่อไป แต่ดอกเบี้ยทุกช่วงระยะต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย เป็นเงิน 34,350.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่บังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เป็นเงิน 6,002,531.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มโออาร์ บวกร้อยละ 4 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องรับผิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ต่อโจทก์ เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญากู้เงินประจำและหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ซึ่งจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วมาทำหนังสือขอรับเงินกู้กับโจทก์ 5 ฉบับ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 48,300,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้เงินส่วนที่ขาดอยู่แก่โจทก์จนครบ และจำเลยที่ 2 ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์นำทรัพย์จำนองเข้าทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัย โดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อนำไปชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย แต่หากโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมชำระคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงิน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 34,350.65 บาท และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ของจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 เป็นเงิน 350,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เป็นเงิน 350,000 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ชำระหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนองและผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงินประจำ สัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองและค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยในส่วนของหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบหลักประกัน คือ บุคคลค้ำประกัน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ต่อโจทก์ โดยหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่โจทก์จัดการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ครั้งละ 350,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ชำระแทนไป รวมเป็นต้นเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน 700,000 บาท ดอกเบี้ย 184,339.72 บาท รวมเป็นเงิน 884,339.72 บาท อันเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระ แต่ไม่ชำระและโจทก์ได้ชำระแทนไปก่อน เมื่อหนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่า หนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละครั้ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง การที่โจทก์ทวงถามและฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ส่วนนี้แล้ว แต่เนื่องจากได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วให้ใช้ข้อความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ในส่วนของหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 นั้น ยังไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ