คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดตาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน เพิ่มโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 12 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 12 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง พักใช้ใบอนุญาตขับรถของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า กำหนดโทษตามคำพิพากษาอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โทษตามคำพิพากษาจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ได้ จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง และเพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอ้างว่ามีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไขฐานความผิดและบทกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเปลี่ยนแปลงไป อันมีผลต่อคำพิพากษาและการลงโทษจำเลยโดยอาจทำให้จำเลยได้รับการลดโทษ ลดอัตราส่วนโทษจำคุก และโทษปรับ หรือได้รับการปล่อยตัว จำเลยมีความประสงค์จะได้รับประโยชน์จากประมวลกฎหมายยาเสพติดเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า กรณีมีเหตุกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บัญญัติในภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้และมีคำสั่งยกคำร้องขอกำหนดโทษใหม่ของจำเลยโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและมีผลให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นชั้นขอให้กำหนดโทษใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด โดยจำเลยกำลังรับโทษอยู่ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยข้างต้น แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วถือว่าสำนวนความตามคำร้องของจำเลยปรากฏแก่ศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังหรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอกำหนดโทษใหม่โดยให้ผู้พิพากษาครบองค์คณะและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใหม่อีก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง...ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ดังนี้ คำว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวมานั้น หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน และเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดอีก หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิดและมีผลที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลย่อมมีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 นั้น การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 นิยามคำว่า จำหน่าย ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งความผิดของจำเลยต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ส่วนบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นโทษหลายสถานให้ศาลเลือกใช้ดุลพินิจลงแก่จำเลยได้ แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ ดังนั้น กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนการปรับบทลงโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 91 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดบัญญัติไว้ในมาตรา 104 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 162 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดเช่นเดิม สำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดโทษบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง อ้างถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ซึ่งเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ซึ่งหมายความรวมถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ด้วย ดังนี้ เมื่อโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่หนักกว่าโทษจำคุกที่กำหนดตามพระราชบัญญัติที่บัญญัติในภายหลัง กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษความผิดฐานดังกล่าวให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ส่วนการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดอีกนั้น บทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษ ดังนี้ ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่ถูกยกเลิกไปแล้วและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ การเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องเพิ่มโทษเพราะกระทำผิดอีกไว้ ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกโดยไม่เข็ดหลาบและโจทก์ได้ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มาตรา 97 ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้วด้วย ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้กำหนดโทษ การเพิ่มโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) โดยเพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 10 เดือน 20 วัน เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน รวมจำคุก 2 ปี 13 เดือน 10 วัน