โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์อีก รวมกับที่กู้ยืมไปก่อนแล้วเป็นเงิน 1,900,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไว้ ตกลงให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน จะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อเกลือจากโจทก์เป็นเงิน 1,300,000 บาท เมื่อโจทก์ทวงถามในวันที่ 27 สิงหาคม 2539 นั้นเอง จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์อีกฉบับหนึ่ง กำหนดชำระเงินค่าเกลือแก่โจทก์ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ตกลงกันว่าโจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ย แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดหรือชำระไม่ครบ จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ในหนี้ที่ค้างชำระนับแต่วันครบกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ นับแต่ทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และค้างชำระดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,187,500 บาท รวมกับเงินต้นเป็น 3,087,500 บาท ส่วนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 617,500 บาท รวมกับเงินต้นเป็นเงิน 1,917,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,005,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 3,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบิดาโจทก์เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 จำนวนเงิน 800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และค้าชำระดอกเบี้ยนับแต่วันกู้จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นเงิน 2,000,000 บาท รวมกับเงินต้นเป็นเงิน 2,800,000 บาท โดยบิดาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ บิดาโจทก์จึงให้โจทก์เป็นตัวแทนทำหนังสือสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์กลับทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้เสียเอง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่คิดดอกเบี้ยจริงร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดชำระเงินในเดือนธันวาคม 2535 ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,300,000 บาทโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นอีก 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวนเงินฉบับละ 650,000 บาท โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ย ฉบับหนึ่งกำหนดชำระเงินในเดือนเมษายน 2535 และอีกฉบับหนึ่งกำหนดชำระเงินในเดือนเมษายน 2536 บางปีโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน บางปีร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ปี 2537 จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 350,000 บาท ปี 2538 ชำระ 180,000 บาท และปี 2539 ชำระให้อีก 500,000 บาท แต่โจทก์หักชำระหนี้ในส่วนของภรรยาโจทก์ไป 200,000 บาท คงเหลือชำระหนี้โจทก์ 300,000 บาท เมื่อหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 3 ฉบับ แก่โจทก์อีก 400,000 บาท รวมกับเงินต้นเป็นเงิน 1,900,000 บาท โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่คือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกตามฟ้อง และเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 2 ฉบับ รวม 1,300,000 บาท มาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้นใหม่ คือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจบังคับได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายและเป็นคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อเกลือจากโจทก์ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกตามฟ้องคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงตกเป็นโมฆะ ส่วนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองตามฟ้องระบุว่าไม่คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 500,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 3 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์อีก 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 650,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล. 4 และ ล. 5 ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงนำจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 3 รวม 1,500,000 บาท รวมกับดอกเบี้ย 400,000 บาท มาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ระบุจำนวนเงินที่กู้เป็น 1,900,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 (ตรงกับเอกสารหมาย ล. 6) และจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 (ตรงกับเอกสารหมาย ล. 6) และนำจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล. 4 และ ล. 5 มาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ระบุจำนวนเงินที่กู้เป็น 1,300,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 2 (ตรงกับเอกสารหมาย ล. 7) หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวทุกฉบับ จำเลยที่ 2 บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน...
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 หรือไม่เพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งเพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย เนื่องจากหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 เกิดจากการคิดดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมิได้เกิดจากการคิดดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงตกไป ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นรายฉบับไป ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,900,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 เป็นการไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องนับแต่วันทำสัญญา คือวันที่ 27 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปนั้น จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ที่เขียนไว้นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ ผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี และตามสัญญา ข้อ 3 กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ถูกต้อง ส่วนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 2 นั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปที่เว้นช่องว่าไว้สำหรับกรอกกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยนั้นกลับมีข้อความเขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ข้อความทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงขัดแย้งกันและเป็นที่สงสัย โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานประกอบการแปลความหมายตามเจตนาแท้จริงของการทำข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยได้เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง หาเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไม่ เมื่อข้อความที่ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ยังปรากฏอยู่โดยมิได้ขีดฆ่าหรือกระทำการโดยประการอื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาจะให้มีผลบังคับ ส่วนข้อความที่เขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ปรากฏอยู่ในข้อความที่เกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ย ทั้งไม่มีข้อความอื่นใดที่แสดงว่าผู้ให้กู้ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากผู้กู้ตลอดไป เมื่อพิจารณาสัญญา ข้อ 3 ที่กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ประกอบด้วยแล้ว มีเหตุผลรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเอาดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนดเท่านั้น แต่หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์จึงจะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินดอกเบี้ยส่วนนี้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.