โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 69, 73, 74 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 มาตรา 4, 21, 30 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (ที่ถูก 69 วรรคสอง (2)), 73 วรรคสอง (ที่ถูก 73 วรรคสอง (2)) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง, 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง, 30 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูป จำคุก 6 ปี ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานครอบครองสัตว์พาหนะไม่มีตั๋วรูปพรรณ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 12 ปี 6 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 3 เดือน 5 วัน ริบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก 4 ปี รวมโทษจำคุกฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานครอบครองสัตว์พาหนะโดยไม่มีตั๋วรูปพรรณตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 8 ปี 6 เดือน 10 วัน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 3 เดือน 5 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 เดิมถูกยกเลิก โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย บัญญัติให้ไม้ซึ่งขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่เป็นไม้หวงห้าม ดังนั้นการกระทำของจำเลยซึ่งทำไม้ในที่ดินของนางสาวเกศินี บุตรสาวของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้าม และมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายในคำฟ้องอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยทำไม้ปอเลียง ในบริเวณป่าบางไต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยทำไม้ในป่าอันเป็นการทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการทำไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ไม่เป็นไม้หวงห้าม ในชั้นฎีกา จึงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้กล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประการนี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เห็นว่า ไม้ของกลางคดีนี้มีจำนวนมากถึง 20 ท่อน และ 10 ต้น ปริมาตร 14.63 ลูกบาศก์เมตร ประกอบกับจำเลยเคยต้องคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าไม้มาก่อนด้วย ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ไม่เข็ดหลาบ และเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น นับว่าเป็นโทษสถานเบาและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว เหตุส่วนตัวที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกา ยังไม่เพียงพอที่ศาลฎีกาจะลงโทษสถานเบากว่าและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน