ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ และให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำค้านและฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำร้องขอและให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำร้องขอ และให้ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวกุณฑลี ผู้อนุบาลของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ ผู้ตาย
ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวกัณหา เภกะนันทน์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้วายชนม์ และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปกับให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสามให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางสาวกัณหา เภกะนันทน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตาย ในส่วนของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโฉนดเลขที่ 3404 และ 3405 ตำบลมักกะสัน (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร กับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนของทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) ให้ผู้ร้องกับนายดิลก สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 1 นางยุพดี สิงหพรรค ผู้คัดค้านที่ 2 และนางสาวกุณฑลี สิงหเสนี ผู้อนุบาลของนายเฉลิม สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนายเสริม เภกะนันทน์ กับนางสะอาด เภกะนันทน์ นางพอพิศ เภกะนันทน์ เจ้ามรดกเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชัยธวัช เภกะนันทน์ บิดาของผู้ร้องเป็นน้องของนายชัยธวัช ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนายชุบ สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของนายชวน สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของนางสาวกุณฑลี สิงหเสนี ทั้งนายชวน นายชุบและผู้คัดค้านที่ 3 ต่างเป็นน้องร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดก เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเพราะเจ้ามรดกไม่มีบุตร นายชุบและนายชวนถึงแก่ความตายแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.5 เป็นพินัยกรรมปลอมและไม่ถูกต้องตามแบบหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่าเจ้ามรดกลงลายมือชื่อในพินัยกรรมไว้ก่อนแล้วผู้ร้องกับทนายความไปกรอกข้อความซึ่งไม่ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของเจ้ามรดกเป็นฉ้อฉล และเจ้ามรดกไม่ได้สวมแว่นตาจึงไม่ได้อ่านข้อความในพินัยกรรม อีกทั้งไม่นำนางอัมพวัน วงศ์ลาภพานิช พยานในพินัยกรรมมาสืบว่าได้ลงลายมือชื่อจริงหรือไม่และลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้ามรดกหรือไม่ พินัยกรรมจึงไม่สมบูรณ์ เห็นว่า ตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามต่างไม่คัดค้านลายมือชื่อของเจ้ามรดกในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ว่าไม่ถูกต้อง และฝ่ายผู้ร้องมีตัวผู้ร้อง นายสมชายผู้ทำพินัยกรรมและว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์เบิกความว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมในวันที่ 23 ตุลาคม 2539 จึงได้มีการทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.5 ขึ้นที่บ้านผู้ร้อง โดยนายสมชายผู้จัดทำพินัยกรรมได้พูดคุยกับเจ้ามรดกและบันทึกเทปการสนทนาไว้ตามเทปบันทึกเสียงวัตถุพยานหมาย ร.3 และคำถอดเทปเอกสารหมาย ร.4 นอกจากนี้เจ้ามรดกยังได้นำร่างพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.2 มาให้นายสมชายดูนายสมชายพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.5 แล้วอ่านข้อความตามพินัยกรรมให้ทุกคนฟัง เจ้ามรดกได้อ่านข้อความในพินัยกรรมด้วยแล้วจึงลงลายมือชื่อแล้วส่งพินัยกรรมให้ว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์และนางอัมพวันลงลายมือชื่อในฐานะพยาน แต่ว่าที่ร้อยโทอนิวรรต์อ่านพินัยกรรมแล้วพบว่าหน่วยเนื้อที่ของที่ดินในพินัยกรรมไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนด จึงมีการแก้ไขแจ้งให้เจ้ามรดกลงลายมือชื่อกำกับจุดที่แก้ไขแล้วว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์กับนางอัมพวันจึงลงลายมือชื่อเป็นพยาน นอกจากนี้พยานทั้งสามยังเบิกความว่าในวันทำพินัยกรรมนั้นได้มีการพูดคุยกับเจ้ามรดกด้วย เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจ้ามรดกสามารถอ่านพินัยกรรมได้โดยไม่ต้องใช้แว่นตาซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ พยานผู้คัดค้านที่ 1 ที่เบิกความว่าเจ้ามรดกเป็นคนไข้ของพยานมารักษาด้วยโรคเกี่ยวกับไขข้ออักเสบหรือโรคเกาต์และความดันโลหิตสูง เท่าที่พยานทราบประวัติการรักษาเจ้ามรดกไม่เคยเอกซเรย์สมอง แต่เคยผ่าตัดต้อกระจกเปลี่ยนเลนส์ตาทั้งสองข้างที่โรงพยาบาลอื่นในวันที่ 6 มิถุนายน 2535 การลอกตาแล้วใส่เลนต์เทียมเข้าไปในดวงตาทำให้มองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้นายแพทย์เสถียรยังมีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2543 แจ้งต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยืนยันว่าเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์โดยตลอด สายตาไม่บอด สามารถอ่านหนังสือได้และได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องว่า ครั้งสุดท้ายพบเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 เจ้ามรดกมีสติปชัญญะสมบูรณ์เพราะสามารถบอกอาการประจำตัวให้พยานทราบได้ นอกจากนี้ร่างพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งเจ้ามรดกร่างขึ้นด้วยลายมือของเจ้ามรดกเองแม้ว่าข้อความจะไม่ครบถ้วนตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียงกัน เทปบักทึกเสียงวัตถุพยานหมาย ร.3 พร้อมคำถอดเทปเอกสารหมาย ร.4 สามารถฟังได้รู้เรื่องเป็นเรื่องเป็นราว พยานหลักฐานตามที่ผู้ร้องนำสืบดังกล่าวมีน้ำหนักฟังได้ว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ถูกต้องตามแบบไม่ใช่พินัยกรรมปลอม และเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมเพราะถูกฉ้อฉล ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ไม่ใช่พินัยกรรมปลอมและเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 เพราะถูกฉ้อฉล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อต่อไปว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 2 ที่มีข้อกำหนดยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ให้แก่ผู้ร้องโดยให้นำที่ดินดังกล่าวไปจัดการอย่างใดๆ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์และนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิชัยธวัช เภกะนันทน์ และพอพิศ (สิงหเสนี) เภกะนันทน์ เป็นโมฆะ หรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อ 2 ดังกล่าวได้กำหนดยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้รับพินัยกรรมแล้ว เพียงแต่ให้ผู้รับพินัยกรรมนำผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินดังกล่าวไปก่อตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจะดำเนินการต่อไปหลังจากทรัพย์มรดกตกเป็นของผู้รับพินัยกรรม และมรดกได้ก่อเกิดผลประโยชน์แล้ว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (3) ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 3 ที่มีข้อกำหนดว่าเงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดยกให้นางสะอาด เภกะนันทน์ และผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามความประสงค์ที่ระบุไว้และสั่งเสียด้วยวาจาด้วยความเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นโมฆะหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่าถ้อยคำตามข้อกำหนดในข้อ 3 ดังกล่าวนี้เป็นการระบุไว้ชัดแจ้งว่ายกเงินสดที่ฝากธนาคารทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและนางสะอาดแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความตามข้อกำหนดในข้อ 3 นั้นระบุว่าเงินสดยกให้นางสะอาดและผู้ร้องเป็นผู้ดูแลจากข้อความดังกล่าวกำหนดให้ผู้ร้องและนางสะอาดเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น หาได้ยกกรรมสิทธิ์เงินสดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและนางสะอาดไม่ และไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ายกเงินสดดังกล่าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 3 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (2) (3) ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องและฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ผู้ร้องถูกไล่ออกจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)กราบทูลเท็จต่อพระบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็หาใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตต่อทรัพย์สินของเจ้ามรดก ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่าผู้ร้องยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานมานำสืบว่าผู้ร้องกระทำการดังกล่าว เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 และข้อกำหนดในข้อ 1 และ ข้อ 2 ไม่ตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงเป็นผู้รับพินัยกรรมทรัพย์มรดกในข้อกำหนดดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดก ส่วนนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 3 ตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกส่วนนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) ฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามร่วมเป็นผู้จัดการมรดกในส่วนนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตาย ในส่วนของทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) แต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์