โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4482 เป็นทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนกำแพงคอนกรีตบนที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางหรือปิดทางเข้าออกในการที่โจทก์นำรถบรรทุกเข้าไปถมดินในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายวันละ 10,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนกำแพงออกจากทางสาธารณประโยชน์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง กับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 42,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และห้ามมิให้โจทก์หรือบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับกำแพงของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ถึงแก่ความตาย นายอนุชาญ ผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4482 เป็นทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนกำแพงยาวประมาณ 120 เมตร ออกจากที่ดินดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มีนาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนกำแพงออกไปจากที่ดินดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อจำหน่าย อันเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 ได้จัดสรรที่ดินบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ หรือซอยสกุลชัย โดยสร้างถนนบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4482 (เดิม 4627) เลขที่ดิน 162 (เดิม 300) ให้ผู้ที่ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และจำเลยที่ 1 ได้สร้างกำแพงคอนกรีตสูง 180 เซนติเมตร ยาว 120 เมตร บนที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตถนนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5794 ของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 กับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางพลัด ทำสัญญายินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทกับที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้รวม 19 แปลง ของจำเลยที่ 1 โดยกรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะทำการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่น เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งข้อตกลงมีสาระสำคัญว่าให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้สอยทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทกับที่ดินพิพาทแปลงอื่นที่ระบุไว้รวม 19 แปลง ตลอดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจำเลยที่ 1 ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ตอบแทน และจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสงวนกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่จะไม่ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางหรือขัดขวางการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าว จากนั้นในปี 2551 กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงซอยจรัญสนิทวงศ์ (ซอยสกุลชัย) ในวงเงิน 8,412,000 บาท วันที่ 9 มีนาคม 2560 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางพลัดว่า โจทก์กับพวกบุกรุกเข้าไปทำลายกำแพงคอนกรีตเสียหายเพื่อดำเนินคดีต่อไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ถนนและกำแพงคอนกรีตบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4482 ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยทั้งสองจัดสรรที่ดินพิพาท ข้อ 30 บัญญัติว่า "สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้น เพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอม เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าว ให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้" และวรรคสองบัญญัติว่า "หน้าที่ในการบำรุงรักษาตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้จัดสรรที่ดิน หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ได้อุทิศทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือได้โอนให้แก่ เทศบาลสุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งท้องที่ ที่ที่ดินจัดสรรอยู่ในเขต" จากข้อ 30 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เห็นได้ว่าถนนหรือสาธารณูปโภคอื่นซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดินตั้งแต่ปี 2517 และได้จัดแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4482 (เดิม 4627) เป็นถนนซอยจรัญสนิทวงศ์ (เดิมแยก 6) หรือซอยสกุลชัย ให้ผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน กับสร้างกำแพงคอนกรีตสูง 180 เซนติเมตร ยาว 120 เมตร เป็นแนวเขตถนนกับที่ดินของโจทก์ เมื่อกำแพงคอนกรีตก่อสร้างมาแต่เดิมตั้งแต่ที่มีการจัดสรรที่ดินย่อมเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ ทั้งสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง หาได้จำกัดไว้เฉพาะถนน สวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่นไม่ ดังนั้น ทั้งถนนซอยสกุลชัย และกำแพงคอนกรีต จึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรโดยผลของกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ที่จะต้องบำรุงรักษาถนนและกำแพงคอนกรีตให้คงสภาพดังที่จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 อีกทั้งตามข้อ 30 วรรคสอง แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิที่จะอุทิศสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือโอนให้แก่เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด แห่งท้องที่ที่ที่ดินจัดสรรอยู่ในเขตได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดในการบำรุงรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค แม้ต่อมาจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไปและจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และยังมีบทเฉพาะการตามมาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) บัญญัติถึงการพ้นจากความรับผิดในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ว่าสามารถทำได้โดยการจดทะเบียนโอนสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ ดังนั้น แม้ตามหนังสือยินยอมให้ใช้สอยทรัพย์สินที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางพลัด กำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทกับที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกับที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้ให้กรุงเทพมหานคร อันจะมีผลให้ถนนและกำแพงคอนกรีตบนที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคที่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายต้องโอนไปเป็นสาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 44 (2) แต่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสงวนสิทธิในที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้ต่อไปตามข้อตกลงก็ตามแต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้สอยทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของกรุงเทพมหานครที่ประสงค์จะก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่นบนที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหนังสือสัญญายินยอมให้ใช้สอยทรัพย์สิน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินพิพาทให้กรุงเทพมหานครเพื่อให้กรุงเทพมหานครใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปพัฒนาถนนเดิมให้กลายเป็นถนนคอนกรีตพร้อมวางระบบระบายน้ำและสาธาณูปโภคที่จำเป็นเพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมุ่งหมายให้ตนพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว ดังนั้น ถนนและที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ทันที แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครจึงเป็นผู้ดูแลและมีหน้าที่บำรุงถนนและที่ดินพิพาทตามกฎหมาย แต่สำหรับกำแพงคอนกรีตนั้น มิได้เป็นประโยชน์แก่โจทก์และประชาชนอื่นที่อยู่นอกที่ดินที่จัดสรรหรือนอกโครงการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างสิทธิเหนือกำแพงคอนกรีตไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อาศัยในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ 1 อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีความประสงค์เพียงเฉพาะแต่จะทำการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นบนที่ดินพิพาทกับที่ดินแปลงอื่นที่ระบุไว้ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันเท่านั้น แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่ามิได้มีเจตนาอุทิศหรือโอนกำแพงคอนกรีตให้แก่ กรุงเทพมหานครด้วย ดังนั้น ต้องถือว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อุทิศถนนและที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์นั้น จำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกกำแพงคอนกรีตออกมาเป็นคนละส่วนกับถนนและที่ดินพิพาทกำแพงคอนกรีตจึงไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ยังคงเป็นสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่จัดสรรในโครงการของจำเลยที่ 1 และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นต่อไป และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับกำแพงคอนกรีตของจำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้โจทก์ชดใช้ค่าซ่อมแซมกำแพงคอนกรีตตามฟ้องแย้ง 42,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยมาด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้ง แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเนื่องจากทุนทรัพย์ต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวประเด็นค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสองหยิบยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาอีกก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสามศาลให้เป็นพับ ชั้นฎีกาจำเลยทั้งสองมิได้ชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้ง จึงไม่มีค่าขึ้นศาลส่วนนี้ที่ต้องคืนแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์