ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิด พ.ร.บ.ธุรกิจหลักทรัพย์ฯ กรณีรับอาวัลตั๋วเงิน - อัตราโทษ - อายุความ - การเปรียบเทียบ
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 75(เดิม) บัญญัติว่า"ในกรณีที่บริษัทกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทนั้นต้องระวางโทษ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย" ดังนี้ เมื่อบริษัทเงินทุนใดกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทเงินทุนนั้นจะต้องมีความผิดทันทีเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย ปรากฏว่าจำเลยกรรมการบริษัทเงินทุนลงลายมือชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินร่วมกันอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งประกาศธนาคารแห่งประเทศกำหนดให้บริษัทเงินทุนที่เข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินนั้นนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันจนเป็นจำนวนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ ในกรณีที่บริษัทได้เข้ารับอาวัลตั๋วเงินนั้นก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525อันเป็นวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ปรากฏว่าบริษัทและจำเลยไม่เรียกหลักประกันตลอดมาจนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะพ้นความผิดได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับบริษัทเมื่อจำเลยเป็นกรรมการมีหน้าที่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามเรื่องราวให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลวางหลักประกันแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว จำเลยจึงไม่พ้นความผิด
บริษัทเงินทุนกระทำความผิดฐานไม่เรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5) และ70(เดิม) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการในช่วงระยะเวลาที่บริษัทกระทำความผิดจึงต้องมีความผิดตามมาตรา 75(เดิม) ด้วยอันเป็นความผิดซึ่งโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาที่จะกระทำความผิดหรือไม่ โจทก์คงมีหน้าที่นำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทนั้นในขณะที่บริษัทกระทำความผิดเท่านั้น เว้นแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้น จำเลยทั้งสามจึงจะพ้นความผิดทั้งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำเอาคำเบิกความของจำเลยทั้งสามมาฟังลงโทษจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินจากพยานเอกสารที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์เองมาประกอบการวินิจฉัยลงโทษจำเลยทั้งสามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนในขณะที่บริษัทนั้นกระทำความผิด และข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามอาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้น เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่พ้นจากการกระทำความผิด
มาตรา 76(เดิม) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความเฉพาะกรณีดำเนินคดีแก่บริษัทเงินทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่การดำเนินคดีต่อกรรมการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มาใช้บังคับ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 75(เดิม) ได้กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี คดีนี้จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526 ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และ 17 กุมภาพันธ์2526 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในกรณีการเข้ารับอาวัลตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนได้กระทำก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลใช้บังคับโดยไม่มีทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้บริษัทเงินทุนนั้นยังมีเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับที่จะให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองดังกล่าวหากพ้นกำหนด 1 ปี บริษัทจึงจะมีความผิด ประกาศดังกล่าวจึงหาใช่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลังให้ผู้ลงลายมือชื่อเข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต้องรับผิดไม่
มาตรา 79 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 บัญญัติว่า "ความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้" และวรรคสามบัญญัติว่า "เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้วให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน" ซึ่งมีความหมายว่า หากรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ก็ให้คณะกรรมการนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ได้ มิได้หมายความว่า ความผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการนั้นต้องเปรียบเทียบปรับเสียก่อน โจทก์จึงจะมีอำนาจฟ้องเมื่อกรณีความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 75(เดิม)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526 ซึ่งต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5) และ 75(เดิม) ก่อนแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522พ.ศ. 2526 มาตรา 33 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ซึ่งมีกำหนดลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ3 ปี จึงเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้ถูกต้อง