โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 284, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.1, 1.9, 1.11 และ 1.13 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.2, 1.10, 1.12 และ 1.14 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี 16 เดือน ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามฟ้องข้อ 1.4, 1.6, 1.8, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 จำคุกกระทงละ 5 ปี 4 เดือน รวม 11 กระทง เป็นจำคุก 55 ปี 44 เดือน และฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามฟ้องข้อ 1.31 จำคุก 4 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 99 ปี 60 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 49 ปี 36 เดือน แต่ความผิดที่จำเลยกระทำกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี จึงให้จำคุกเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) ด้วย จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 คงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 16 กระทง เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 96 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 120 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนาย อ. กับผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 และพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 และนาง ห. ซึ่งเป็นยาย ที่บ้านเลขที่ 63 บางครั้งผู้เสียหายที่ 1 จะไปพักอาศัยอยู่กับนาง ส. ย่าของผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 29 ซึ่งอยู่ใกล้กัน จำเลยมีศักดิ์เป็นลุงเขยของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปกระท่อมนาที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง ต่อมาในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 ถึงปลายเดือนสิงหาคม 2561 จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกหลายครั้ง รวม 15 ครั้ง โดยบางครั้งจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปพยายามกระทำชำเราที่กระท่อมนาที่เกิดเหตุ และบางครั้งจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 นอนอยู่ในห้องนอนภายในบ้านเลขที่ 63 และบ้านเลขที่ 29 โดยในการกระทำแต่ละครั้งจำเลยจะบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ถอดเสื้อผ้าออกและนอนลงกับพื้น จากนั้นจำเลยใช้มือลูบคลำบริเวณหน้าอกและอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วนำอวัยวะเพศของจำเลยพยายามสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่สามารถสอดใส่เข้าไปได้ สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.3, 1.4, 1.5, 1.6, 1.7, 1.8, 1.15 ถึง 1.30 นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดทั้งสองฐานตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามกระทำชำเรา หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 บัญญัติว่า ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการยับยั้งเสียเองซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษนั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่มีการยับยั้งไม่กระทำความผิดไปให้ตลอด ซึ่งจะต้องเป็นการยับยั้งโดยสมัครใจของผู้กระทำเอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และได้ลงมือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว โดยการใช้อวัยวะเพศของจำเลยพยายามสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อผลสำเร็จในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว แต่กระทำไม่สำเร็จ โดยอวัยวะเพศของจำเลยยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด อันเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานพยายามกระทำชำเราแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาว่า อวัยวะเพศของจำเลยยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยเลิกกระทำต่อไป จึงเป็นผลให้การกระทำยังไม่บรรลุผลเป็นความผิดสำเร็จก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่จำเลยลงมือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยพยายามเอาอวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่สามารถกระทำได้ ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บ พยายามใช้มือปัดออก จำเลยจึงไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้ จำเลยจึงหยุดกระทำ พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 จำเลยต้องรับโทษฐานพยายามกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำฟ้องข้อ 1.2, 1.4, 1.6, 1.8, 1.10, 1.12, 1.14, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 กระทงละ 5 ปี 4 เดือน และวางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำฟ้องข้อ 1.31 มีกำหนด 4 ปี นั้น เห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยตามฟ้องข้อ 1.2, 1.4, 1.6, 1.8, 1.10, 1.12, 1.14, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 กระทงละ 4 ปี 8 เดือน และลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.31 จำคุก 2 ปี 8 เดือน รวม 16 กระทง เป็นจำคุก 62 ปี 128 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 31 ปี 64 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 39 ปี 88 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3