โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 267, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม), 267 (เดิม), 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 265 (เดิม) และประกอบมาตรา 267 (เดิม), 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 4 กระทง แต่ละกระทงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 16 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นภริยาของนายชัยสิทธิ์ บ้านของจำเลยอยู่ใกล้บ้านของนางกรณิศ ผู้เสียหาย จำเลย นายชัยสิทธิ์ และผู้เสียหายรู้จักกันมาตั้งแต่ต้นปี 2554 ช่วงแรกนายชัยสิทธิ์มายืมสลากออมสินและโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปใช้เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นโดยให้ผลตอบแทนเป็นเงินประมาณปี 2556 ถึง 2557 ผู้เสียหายขึ้นทะเบียนเจ้าของหลักทรัพย์ไว้ที่ศาลชั้นต้น หากผู้เสียหายไม่สามารถมาศาลได้ก็จะมอบอำนาจให้นายชัยสิทธิ์นำหลักทรัพย์มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยแทน โดยนายชัยสิทธิ์หรือจำเลยจะเป็นผู้นำเอกสารเกี่ยวกับการขอปล่อยชั่วคราวไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อที่บ้าน ต่อมาธนาคารออมสินมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายส่งเงินตามสลากออมสินไปให้ศาล ผู้เสียหายพยายามติดต่อนายชัยสิทธิ์และจำเลยแต่ติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงได้ไปตรวจสอบที่ศาลพบว่ามีการนำสลากออมสินของผู้เสียหายไปใช้เป็นหลักประกันนายเจริญชัย ผู้ต้องหา แล้วผู้ต้องหาหลบหนีเป็นการผิดสัญญาประกันต้องชำระค่าปรับ 360,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการนำหลักประกันของผู้เสียหายไปใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นอีกหลายราย ได้แก่ นายกฤษณะพงศ์จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5001/2559 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 นายไพบูลย์ ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.2120/2559 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 และนายเจริญชัย ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.2741/2559 เมื่อวันที่ 20 และ 26 ธันวาคม 2559
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 กฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เมื่อผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่ามิได้มอบอำนาจให้จำเลยและนายชัยสิทธิ์นำสลากออมสินของผู้เสียหายไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยทุกรายตามฟ้อง ประกอบกับภาพถ่ายด้านหลังสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอประกันที่ยื่นประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยและผู้ต้องหาก็เป็นภาพถ่ายด้านหลังบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยซึ่งเป็นข้อพิรุธทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน ทุกครั้งที่นายชัยสิทธิ์และจำเลยมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายพิเชษฐ์และนางพัชรินทร์ก็ไม่เคยพบเห็นผู้เสียหายมาศาลเลย ทั้งผู้เสียหาย นายพิเชษฐ์ และนางพัชรินทร์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเพียงแต่นำหนังสือรับรองและสลากออมสินไปให้แก่นายชัยสิทธิ์ตามที่ผู้เสียหายมอบหมายเท่านั้น การที่นายชัยสิทธิ์ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายให้ลงลายมือชื่อแทนเป็นเรื่องระหว่างนายชัยสิทธิ์กับผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น จำเลยมีเพียงตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์ตามที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน